สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีปัจจัยบวกมาตลอด ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ การประกาศลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และภาวะเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค และเงินทุนที่ไหลเข้ามาก็ไม่พบว่าการเข้ามาเพื่อโจมตีค่าเงิน แต่ก็ต้องติดตามพฤติกรรมนักลงทุนว่าเป็นการเก็งกำไรหรือไม่
ดังนั้น ธปท.ต้องดูแลค่าเงินบาทในหลายมิติมากขึ้น โดยใช้แนวทางผสมผสานระหว่างการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ดูแลเงินทุนไหลเข้า ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ดูแลอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการดูแลค่าเงินบาทนั้นที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือกับกระทรวงการคลังเป็นระยะๆ อยู่แล้ว โดยแนวทางที่ ธปท.จะใช้ดูแลค่าเงินบาทนั้นจะเปลี่ยนไปจากเดิมที่ดูเฉพาะในเรื่องเงินทุนไหลเข้าและอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น
นอกจากนี้ การหารือของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้ ธปท.จะนำเสนอข้อมูลของ ส.อ.ท.ให้ได้รับทราบสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ กนง.ได้พิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ก่อนที่จะนำไปพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง.วาระปกติวันที่ 29 พ.ค.56
ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัญหาเงินบาทแข็งค่านอกจากจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกแล้ว ขณะนี้ยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.ไม่เคยรับทราบมาก่อน แม้ขณะนี้ค่าเงินบาทจะปรับตัวอ่อนค่าลงแล้วก็ตาม แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่าจะมีทิศทางไปอย่างไร หากยังปรับตัวแข็งค่าอีกก็เชื่อว่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้น
"วันนี้มีความเข้าใจมากขึ้นว่าแบงก์ชาติจะใช้วิธีคิดแบบผสมผสาน ทั้งดูว่าเงินทุนไหลเข้าเป็นอย่างไร ดูอัตราแลกเปลี่ยน ดูอัตราดอกเบี้ย หลังจากนี้ไปคงต้องรอดูสถานการณ์ค่าเงินบาทสักระยะ หากเกิดผลกระทบมากขึ้นก็จะขอนัดหารือกับทางแบงก์ชาติอีกครั้ง" นายพยุงศักดิ์ กล่าว