ทั้งนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดพันธบัตรเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่าเงินที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นหลายเท่า วิธีลดแรงกดดันเงินบาทที่ได้ผลที่สุด ก็คือการดูแลเงินที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตร ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายที่มีอายุเพียง 1 วัน จะไม่แก้ปัญหาตรงจุด แต่ต้องใช้มาตรการ capital control ซึ่งสามารถทำได้จากระดับอ่อนไปถึงระดับเข้มด้วยการเก็บภาษี เริ่มทำเมื่อใด แรงกดดันบาทแข็งก็จะยุติเมื่อนั้น
ถามว่าทำไมกระทรวงการคลังจึงไม่เลือกใช้มาตรการด้านนี้ แต่หันไปกดดันแบงค์ชาติให้ลดดอกเบี้ยแทน มาตรการคุมเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตร ถึงแม้จะได้ผลในการลดแรงกดดันบาทแข็ง แต่จะทำให้มีเงินมาซื้อพันธบัตรน้อยลงในอนาคต ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีแผนจะกู้เงิน 2 ล้านล้าน ก็อาจจะไม่อยากไปแตะต้องตลาดพันธบัตร เป็นเรื่องธรรมดา
นอกจากนี้ ธุรกิจที่อาศัยเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวไปบูมโครงการต่างๆ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ แหล่งเงินก็จะมีน้อยลง เขาก็ย่อมไม่ชอบ เป็นเรื่องธรรมดา
ทุกมาตรการมีข้อดีข้อเสียครับ ไม่ว่า ก. แบงค์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือ ข. ใช้ capital control หรือ ค. แบงค์ชาติเข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์ หรือแม้แต่ ง. ปล่อยให้บาทแข็งและบังคับให้ผู้ส่งออกต้องปรับตัว