สำหรับสาระสำคัญของแต่ละการประชุม มีดังนี้ การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย ครั้งที่ 46 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ว่าการจากประเทศสมาชิก ADB ทั้งหมด 67 ประเทศ หารือแลกเปลี่ยนแนวทางและประสบการณ์การดำเนินงานของ ADB ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้การช่วยเหลือประเทศสมาชิกในภูมิภาคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยพิธีเปิดการประชุมฯ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 พ.ค.56 และมีการกล่าวสุนทรพจน์ของประธานการประชุมฯ (สาธารณรัฐอินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ) และประธาน ADB (Mr. Takehiko Nakao) ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมฯ จะมีการสัมมนาในหัวข้อเรื่องการจัดสรรความช่วยเหลือทางการเงินในระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Mobilizing Long-Term Financing for Infrastructure) ในวันที่ 5 พ.ค.56 นายกิตติรัตน์ ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นผู้เสวนาในการสัมมนาดังกล่าว
นอกจากนี้ ในวันที่ 2 พ.ค.56 ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเข้าร่วมการประชุมประจำปีประเทศผู้บริจาคในกองทุนพัฒนาเอเชีย (Asian Development Fund Donors Consultation Meeting) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของกลุ่มออกเสียงของไทยใน ADB
ส่วนการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน+3 [ASEAN+3 Finance Ministers and Central Bank Governors Meeting (AFMGM+3)] ครั้งที่ 16 จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ค.56 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของบรูไนดารุสซาลามและสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประธานร่วมของการประชุมฯ ทั้งนี้ จะหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน+3 ความคืบหน้ามาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี [Chiang Mai Initiative Multilateralisation (CMIM)] และมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย [Asia Bond Markets Initiative (ABMI)] การยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 [ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO)] เป็นองค์การระหว่างประเทศ การจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN+3 Research Group และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของ ASEAN+3 ในอนาคต
นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ มีกำหนดหารือทวิภาคีกับรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังญี่ปุ่น องค์การระหว่างประเทศ อาทิ ADB, ธนาคารโลก, AFD (French Development Agency), Japan Bank for International Cooperation (JBIC) และสถาบันการเงินระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ อาทิ Daiwa Securities, Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Credit Suisse เป็นต้น