“ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพในด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในปี 54 มีการส่งออกสินค้าเป็นอันดับที่ 13 ของโลก และมีมูลค่าการส่งออกในปี 55 สูงถึง 54,160 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ รวมทั้งมีบริษัทผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลกมาตั้งฐานการผลิตในไทย และมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนของกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยมากกว่า 3,000 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนพลาสติกและยาง ประมาณ 2,400 ราย และกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะอีกประมาณ 800 ราย ดังนั้น การที่ซัมซุงนำกลุ่มบริษัทในภูมิภาคมาแสวงหาชิ้นส่วนในประเทศไทย จะช่วยตอกย้ำศักยภาพของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนไทยได้เป็นอย่างดี"นางหิรัญญา กล่าว
สำหรับการจัดงาน “Southeast Asia Sourcing Fair in Bangkok" หน่วยพัฒนาการเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือหน่วย BUILD ของบีโอไอได้เชิญผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมเจรจาธุรกิจตลอดทั้ง 2 วัน รวมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ไปคอยให้บริการออกบูธให้คำปรึกษาแก่นักลงทุนภายในงาน รวมทั้งจัดกิจกรรมตลาดกลางซื้อขายชิ้นส่วนภายในงาน และได้นำเสนอข้อมูลเรื่อง ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้า และศักยภาพของประเทศไทยให้กับนักธุรกิจเกาหลีใต้ได้รับทราบ
ด้านนายชอย บียอง ชุค รองประธาน กลุ่มบริษัท ซัมซุง ซึ่งดูแลด้านการจัดซื้อชิ้นส่วนทั่วโลกของซัมซุง กล่าวว่า การผลิตสินค้าในปัจจุบัน บรรดากลุ่มผู้ผลิตต่างแสวงหาแหล่งรองรับการผลิตใหม่ๆ ที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยควบคุมสภาพแวดล้อมด้านต้นทุนที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลง และในวันนี้ เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียนสามารถสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ทั้งในเรื่องแรงงานที่มีศักยภาพและสภาพแวดล้อมที่ได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค และเป็นจุดเชื่อมโยงที่ดีในการขยายธุรกิจการจัดซื้อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแก่ซัมซุง
ทั้งนี้ จากสถิติขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 238 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 31,510 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.56) มีโครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 14 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 4,568 ล้านบาท