(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัย SCB ปรับคาดการณ์ศก.ไทยปีนี้โตเป็น 5.1% จาก 4.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2013 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB)ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 56 เป็นเติบโต 5.1% จากเดิม 4.9% แม้จะคาดว่าการส่งออกจะเติบโตลดลงเหลือ 7.1% จากเดิมที่คาดไว้ในระดับ 7.5% ทั้งนี้ ไตรมาส 1/56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ในระดับ 6%

นางสุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและผู้ช่วยผู้จัดการ ใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 56 คาดว่าจะเติบโตที่ 5.1% โดยมีแรงส่งสำคัญจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดโดยเฉพาะภายในปีนี้ที่จะมีการส่งมอบรถยนต์ตามโครงการรถคันแรกได้อีก 4-5 แสนคัน และจะมีเงินคืนภาษีที่เริ่มทยอยคืนในช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ประกอบกับสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่เติบโตได้ดีมาก จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังผ่อนคลายและสภาพคล่องในระบบที่มีสูง

นอกจากนี้ยังมีโครงการลงทุนภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่คาดว่าปีนี้จะมีการเบิกจ่ายเงินราว 7% หรือประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท และการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ที่คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายปีนี้ราว 7 หมื่นล้านบาท

ส่วนการส่งออกคาดว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้เศรษฐกิจสหรัฐจะดีขึ้น ขณะที่เงินบาทแข็งค่า แต่ลักษณะโครงสร้างสินค้าเป็นห่วงโซ่อุปทมน ดังนั้น เมื่อเงินเยนอ่อนค่า ก็ทำให้มีศักยภาพส่งออกได้มากขึ้นเช่นกัน โดยทั้งปี 56 คาดว่าส่งออกจะขยายตัวที่ 7.1% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 7.5% เนื่องจากการส่งออกไตรมาส 1/56 ที่ต่ำกว่าคาด รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ส่วนการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าขยายตัวที่ 8% และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5%

"เศรษฐกิจไทยปีนี้มีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายในประเทศที่แข็งแกร่ง จากปัจจัยพื้นฐานที่เป็นแรงส่งสำคัญทั้งการบริโภคภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐผ่านแผนลงทุนบริหารจัดการน้ำและลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่การส่งออกยังอ่อนแอตามเศรษฐกิจหลักประเทศคู่ค้า" นางสุทธาภา กล่าว

สำหรับไตรมาส 1/56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตรา 6% และจะชะลอลงในไตรมาส 2/56 ที่คาดว่าขยายตัว 3.9% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนอาจชะลอตัวลงเล็กน้อยหลังจากเร่งตัวในช่วงปลายปีก่อน และคาดว่าจะเร่งตัวในไตรมาส 3-4/56 ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวราว 5.4% ทั้งสองไตรมาส

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB กล่าวอีกว่า ค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันแข็งค่า 6% ซึ่งแข็งค่าอย่างรวดเร็ว ซึ่งมาจากเงินทุนไหลเข้า และการชะลอการแทรกแซงค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) โดยประเมินเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าที่ 25.50-29.00บาท/ดอลลาร์ในสิ้นปีนี้ เงินบาทที่แข็งค่าส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกแต่ละภาคอุตสาหกรรมแตกต่างกัน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ ยางพารา อาหารทะเลแปรรูป ผลักและผลไม้แปรรูป เครื่องนุ่มห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทที่ทแข็งค่ากว่าสกุลอื่นในภูมิภาคน่าจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว เพราะหลายประเทศในอาเซียนมีปัจจัยพื้นฐานที่คล้ายคลึงไทย

ทั้งนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตาม คือ ความเสี่ยงต่อการเติบโตเศรษฐกิจ จากกความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ผลของการตัดลดงบประมาณของสหรัฐเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ส่วนความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน คือสัญญาณการลด/ขยายขนาดการใช้ QE รวมถึงการชะลอมาตรการรัดเข็มขัด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ