หอการค้าไทย-สมาคมแบงก์นัดถกผู้ว่าฯธปท.สัปดาห์หน้าจี้ดูแลค่าบาทสอดคล้องภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 2, 2013 14:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าหอการค้าไทย, สภาหอการค้าฯ จะเป็นตัวแทนของภาคเอกชนร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เดินทางเข้าพบกับนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อหารือถึงแนวทางในการดูแลค่าเงินบาท หลังจากที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกเป็นอย่างมาก ในขณะที่ประเทศคู่แข่งของไทยมีค่าเงินที่ค่อนข้างนิ่ง โดยแนวทางที่จะนำเสนอคือ ขอให้ ธปท.และกระทรวงการคลังช่วยดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับคงที่และเหมาะสมเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค

"ตอนนี้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คู่ค้ามีค่าเงินอ่อน ผู้ประกอบการรับ order ล่วงหน้าไม่ได้ เพราะไม่สามารถตั้งราคาได้ เราจะเสนอให้แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังช่วยดูแลเงินบาทให้คงที่ไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยอยู่ในระดับที่เหมาะสม"ประธานกรรมการหอการค้าไทย ระบุ

พร้อมกันนี้ จะนำเสนอให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM Bank) จัดวงเงินช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs หรือปรับลดค่าธรรมเนียมสำหรับการใช้ Financial Tools หลังจากที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ใช้วิธีบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำ forward ในขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs หลายรายไม่สามารถทำได้ เนื่องการทำ Financial Tools มีต้นทุนสูง

นายอิสระ กล่าวด้วยว่า จะเสนอแนวทางให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และลดการใช้พลังงาน โดยใช้โอกาสจากที่เงินบาทแข็งค่าร่วมสนับสนุนการซื้อขายเป็น Local Currency โดยไม่ต้องผ่านสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่องและหลุดไปจากระดับ 28 บาท/ดอลลาร์ ก็อาจจะมีผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ปีนี้ให้ลดลง 0.5-1% และหากเงินบาทแข็งค่าไปถึงระดับ 27 บาท/ดอลลาร์ ก็เชื่อว่าจะมีอีกหลายบริษัทที่ต้องปิดกิจการ ส่วนในแง่ผลกระทบต่อการส่งออกนั้นอาจทำให้การส่งออกปีนี้ขยายตัวได้ไม่ถึง 3% และทำให้ GDP ในปีนี้จะเหลือโตไม่เกิน 4.5% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะโตได้ราว 5%

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในทางทฤษฎีแล้วอัตราดอกเบี้ยต่ำจะทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง แต่ในความจริงแล้วการที่เงินทุนไหลเข้าน้อยลงยังมีผลมาจากปัจจัยอื่นด้วย เพราะหากพิจารณาดูจะพบว่ามีหลายประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทยแต่กลับไม่ได้มีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากนัก

ดังนั้น การจะพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นสิ่งที่ต้องเลือกระหว่างการดูแลอัตราเงินเฟ้อในประเทศ หรือการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้มีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะเลือกให้ดอกเบี้ยดูแลอัตราเงินเฟ้อ และก็ทำได้ดีเพราะในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในระดับสูง ดังนั้นถ้า ธปท.เลือกจะทิ้งการดูแลอัตราเงินเฟ้อ แล้วหยิบยกเรื่องดอกเบี้ยมาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ก็ทำให้มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ และความกังวลต่อปัญหาฟองสบู่หรือไม่

"การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ก็นับเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ยังมีเครื่องมืออีกหลายตัวที่รัฐบาลใช้ได้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจดูแลเป็นกลุ่ม อย่างดูว่ากรณีเงินไหลเข้านั้น ไหลเข้าไปที่ไหนบ้าง เช่น ตลาดพันธบัตร ดังนั้นอาจจะมีการเก็บภาษีของตลาดพันธบัตรระยะสั้น ซึ่งจะเป็นการแก้ได้ตรงจุดและไม่กระทบกับตลาดในภาพรวม เพราะฉะนั้นยังมีอีกหลายเรื่องที่จะ control เงินไหลเข้าโดยผ่านมาตรการอื่นๆ แทน เพราะหากเราส่งสัญญาณว่าจะใช้อัตราดอกเบี้ยเมื่อใด คนจะรู้ว่าเราปล่อยเรื่องของเงินเฟ้อแล้ว คนก็จะคาดกันว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้น"นางเสาวณีย์ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ