รวมทั้งการหารือเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งแม้จะมีความเห็นตรงกันว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือหามาตรการอื่นๆ เข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออก ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้รับข้อเสนอไป และมีการนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)นอกรอบเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ผลสรุปที่ออกมาก็ไม่เป็นไปตามทิศทางที่ได้หารือร่วมกันไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี เมื่อดูจากผลการแถลงข่าวของ กนง.มีสิ่งที่ตรงกันคือ ธปท.จะประสานการทำงานในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
"ยอมรับว่าที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้ประสานกับกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิดตามที่พูด เช่น การเสนอแนะให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อใช้เป็นกลไกหนึ่งในการลดการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเสนอตั้งแต่เงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 31 บาท/ดอลลาร์ จนขณะนี้แข็งค่ามาอยู่ที่ระดับ 29 บาท/ดอลลาร์ จนเกิดความเดือดร้อนมากขึ้น และเป็นห่วงว่าหากตอนนี้ยังไม่มีมาตรการใดออกมา เกรงว่าในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์แบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน" รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพทางการเงินในฐานะ รมว.คลัง ตั้งแต่การสอบถาม ดูแลและหามาตรการดูแลค่าเงินบาท โดยมีการสอบถามตั้งแต่ระดับผู้บริหารของ ธปท.จนถึงการส่งหนังสือถึงนายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการ ธปท.แต่กลับได้รับคำตอบว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ ต้องให้สอบถามกับผู้ว่าการ ธปท.เอง
"มองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการโยนกันไปมา ยิ่งทำให้เป็นห่วงว่าในอนาคตเมื่อเกิดปัญหาที่รุนแรงขึ้นจะไม่เกิดความเสียหายต่อประเทศมากกว่านี้หรือ และมองว่ากลไกการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยได้ ในทางตรงกันข้าม ธปท.กลับมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลงและจะเป็นผลเสียต่อระบบการเงิน" นายกิตติรัตน์ กล่าว