นอกจากนั้นยังเป็นห่วงความเห็นที่ขัดแย้งกันระหว่างรมว.คลัง และผู้ว่าการ ธปท. แต่ก็ยอมรับว่าแม้จะเป็นประธานคณะกรรมการ ธปท.ก็ไม่สามารถบังคับหรือปลดผู้ว่าการ ธปท.ได้ แต่เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม นายวีรพงษ์ ระบุว่า ไม่อยากเห็นเรื่องราวลุกลามไปถึงขั้นปลดผู้ว่าการ ธปท.
นายวีรพงษ์ กล่าวว่า รู้สึกหนักใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งความขัดแย้งทางความคิดระหว่าง รมว.คลังและผู้ว่าการ ธปท.รวมทั้งเงินบาทที่แข็งค่าผิดปกติ เพราะเป็นห่วงว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหากไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้พบว่า ธปท.ขาดดุลในงบเพิ่มเป็นกว่า 8 แสนล้านบาทแล้ว จากสิ้นปี 55 ที่อยู่ในระดับ 5.3 แสนล้านบาท ซึ่งหากไม่ดำเนินการใด ๆ ก็อาจสูงไปถึง 1 ล้านล้านบาทภายในไม่เกินสิ้นปีนี้ และกังวลว่าเศรษฐกิจไทยอาจจะย้อนกลับไปเหมือนสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ
ที่ผ่านมาในฐานะประธานคณะกรรมการ ธปท.ก็ได้มีการเตือนผู้ว่าการ ธปท.เกี่ยวกับปัญหาค่าเงินบาทมาโดยตลอดในการประชุมหลายครั้ง ซึ่งทางผู้ว่าการ ธปท.ก็ชี้แจงว่ามีมาตรการอื่นนอกเหนือจากมาตรการลดดอกเบี้ย แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินมาตรการใด ๆ และการที่ รมว.คลังทำหนังสือมาตนเองก็ได้มีการเตือนไปยังผู้ว่าการ ธปท.ทุกครั้ง รวมถึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีนายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง(สวค.) ในฐานะกรรมการธปท.เข้าไปตรวจสอบการขาดดุลงบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
"ดูเหมือนผู้ว่าแบงก์ชาติไม่เดือดร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้ว่าเรื่องนี้เคยเตือนแบงก์ชาติมาตลอด 4 ปี ตั้งแต่เงินบาทอ่อนค่ากว่า 33 บาท/ดอลลาร์ จึงกังวลว่าหากไม่ดำเนินการแก้ไข บ้านเมืองอาจจะเดินลงเหว หรือนำไปสู่เศรษฐกิจล้มละลายได้" นายวีรพงษ์ กล่าว
ส่วนอำนาจในการปลดผู้ว่าการ ธปท.นั้น นายวีรพงษ์ กล่าวว่า เมื่อตรวจสอบข้อกฎหมายทั้งหมดแล้ว คณะกรรมการ ธปท.ไม่มีอำนาจใด ๆ ที่จะสามารถปลดผู้ว่าการได้ ซึ่งแนวทางขณะนี้ต้องฝากให้นายกรัฐมนตรีลงมาดูแลปัญหานี้ เพราะอำนาจของคณะรัฐมนตรีสามารถปลดผู้ว่าการ ธปท.ทำได้ แต่ก็ไม่อยากให้ถึงขั้นนั้น ส่วนการออกมาพูดจะเป็นการกดดันให้ผู้ว่าการ ลาออกหรือไม่นั้น นายวีรพงษ์ กล่าวว่า คงไม่สามารถทำได้
"ปัญหาที่ผ่านมาสิ่งที่หนักใจคือ รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าแบงก์ชาติ ต่างคนก็ต่างพูดสวนกันไปสวนกันมา แบงก์ชาติก็เคยออกมาอธิบายอยู่หลายครั้ง ซึ่งบางแนวทางตนเองก็ไม่เห็นด้วย ในคณะกรรมการ กนง.บางคนก็ดูแล้วไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาคอย่างแท้จริง และการที่ออกมาพูดเพราะต้องการระบายความทุกข์ใจ เพราะที่ผ่านมาตั้งแต่มารับตำแหน่งก็พบว่าเกิดปัญหารมว.คลังและแบงก์ชาติมีปัญหามาโดยตลอด เพราะเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็จะเกิดความเสียหายกับผู้ส่งออก ต่างโยนความผิดความรับผิดชอบ แบงก์ชาติก็โยนกนง. กระทรวงการคลังก็โยนว่าเป็นหน้าที่แบงก์ชาติ ส่วนแบงก์ชาติก็พยายามบอกว่ามีมาตรการหลายอย่าง แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร ผลเสียหายจึงตกกับประเทศชาติ ซึ่งตามกฎหมายรัฐมนตรีคลังสามารถสั่งการดูแลควบคุมในภาพรวม แต่ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายธปท.ได้ ซึ่งผมคิดว่าถ้าสถานการณืยังเป็นไปแบบนี้ เห็นท่าว่าจะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อประเทศชาติและประชาชน"นายวีรพงษ์ กล่าว
"บัดนี้ต้องยอมรับว่าเงินบาทของเราแข็งกว่าปกติ แข็งกว่าประเทศใดในโลก ถ้าอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศไม่ถึง 1% แต่บ้านเราอยู่ที่ 2.75%...ผมก็แนะนำตลอด 4 ปีที่ผ่านมา"นายวีรพงษ์ กล่าว