ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ จะจัดสถานะให้ไทยอยู่ในบัญชี PWL แต่ได้ให้เงื่อนไขพิเศษกับไทยที่มากกว่าการทบทวนสถานะนอกรอบ(OCR)เพราะเห็นถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาการละเมิดของไทย และเจ้าของสิทธิได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานด้านปราบปรามของไทย โดยสหรัฐฯ ระบุว่าหากไทยสามารถผลักดันร่างแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ว่าด้วยการแอบถ่ายในโรงภาพยนตร์ และร่างแก้ไขพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ว่าด้วยการป้องกันการละเมิดบนอินเตอร์เน็ตให้มีผลบังคับใช้ได้ หรือเพียงแค่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกได้ สหรัฐฯจะลดสถานะของไทยมาอยู่บัญชีที่ถูกจับตามอง(WL)ทันที ซึ่งกรมฯ เชื่อว่าจะสามารถผ่านการพิจารณาของสภาฯ วาระแรกในช่วงการเปิดสภาฯ ในเดือนส.ค.-ต.ค.นี้
"เงื่อนไขพิเศษดังกล่าว ถือว่าดีกว่าการขอทบทวนสถานะนอกรอบที่ต้องทำตามแผนให้ได้ทั้งหมด สหรัฐฯ ถึงปรับไทยมาอยู่สถานะดีขึ้น เพราะแค่ไทยเพียงผลักดันร่างแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับผ่านก็จะได้รับการปลดทันที ซึ่งต้องฝากความหวังไว้ที่สภาฯ ให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในการประชุมสภาฯเดือนส.ค.-ต.ค.นี้" นางปัจฉิมากล่าว
สำหรับ 10 ประเทศที่ถูกจัดอันดับสถานะ PWL ในรอบปี 55 ได้แก่ ไทย, อัลจีเรีย, อาร์เจนตินา, ชิลี, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ปากีสถาน, รัสเซีย และเวเนซูเอลา โดยปีนี้มีประเทศถูกจัดอยู่ในบัญชีละเมิดสูงสุด(PFC) คือ ยูเครน