ด้านการผลิต ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ส่วนการส่งออก มีต้นทุนสูงและมีตลาดแคบเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งระบบตลาดที่ยังไม่เอื้อต่อการส่งออกและไม่สามารถกำหนดราคายางในตลาดโลกได้ ประกอบกับการใช้ยางเพื่อแปรรูปในประเทศยังมีข้อจำกัด และมีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ไทยต้องพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก และอยู่ในสถานะเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง สำหรับต้นทุนการผลิตยางของเกษตรกรชาวสวนยางนั้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สาเหตุเนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตยางของเกษตรกรต่ำและการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อราคายางปรับตัวลดลง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง และในบางช่วงต้องประสบปัญหาการขาดทุน ซึ่งปัญหาข้างต้นเป็นสาเหตุให้เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือโดยการรักษาเสถียรภาพราคายาง
อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายางได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายรัฐจำเป็นต้องมีข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพาราทีมีหลักวิชาการและสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด การสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหารือข้อมูลร่วมกัน โดยหลักการจัดทำข้อมูลต้นทุนการผลิตยางพารามีหลายมิติเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งมิติด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านบัญชี และด้านกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในมิติต่างๆ เหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนมุมมองร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็น สศก.ในด้านมุมมองมิติทางเศรษฐศาสตร์ หรือกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในมิติด้านบัญชี และสำนักกฎหมายในมิติด้านกฎหมาย
ทั้งนี้ ผลจากการสัมมนาทาง สศก. จะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติเพื่อประกอบการตัดสินใจในการกำหนดมาตรการและนโยบายด้านยางพาราต่อไป