"ธงทอง" คาดปลายพ.ค.รู้ผลด้านเทคนิคก่อนเปิดซองราคางานบริหารจัดการน้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 4, 2013 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

"ธงทอง" คาดปลายพ.ค.นี้จะได้ผลด้านเทคนิคของผู้ยื่นซองประมูลบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ก่อนจะพิจารณาซองราคา และเรียกเจรจาต่อรอง ระหว่างนี้จะเปิดรับฟังความคิดเห็น

นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาของประเทศไทย นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขาธิการสำนักงานนโยบาย และบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) และนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มาชี้แจงเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบประชาชนในวันนี้

นายธงทอง กล่าวว่า เมื่อวาน (3พ.ค.)มีการเปิดประมูล คาดว่าไม่น้อยกว่า 3 สัปดาห์จะอ่านแล้วเสร็จ ไปถึงสัปดาห์สุดท้ายของปลายพ.ค. ก็มีข้อรายงานจากคณะอนุกรรมการทางเทคนิคมา คิดว่าสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพ.ค. ซึ่งมีเงื่อนไขว่าถ้าได้คะแนนทางเทคนิคเกินกว่าร้อยละ 80 ถือว่าผ่าน จากนั้นก็จะนำคนที่ได้คะแนนสูงสุดมาดู ซองราคาก็จะยังไม่เปิดก่อน เมื่อดูว่าผ่านแล้วก็จะเชิญมา และดูในซองราคาเพื่อต่อรอง

"วันนี้มีคนสงสัยว่าทำไมไม่บอกราคากลาง ก็เพราะยังไม่รู้ว่าเขาจะเสนอทำอะไรบ้าง ต้องดูคนที่เสนอว่าเขาจะทำอะไร ราคาเท่าไหร่ ถ้าผมรู้แล้วว่าเขาจะทำอะไร ก็จะบอกราคากลางได้ เมื่อเจรจาก็จะมีการต่อรองกัน ถ้ารายที่หนึ่งตกลงราคากันไม่ได้ ก็เปิดซองรายที่สอง เขาไม่มีสิทธิ์ฟ้องร้องเพราะเขียนไว้อยู่แล้ว หวังว่าการเจรจาปลายพ.ค.อย่างช้าก็ล้นมาต้นมิ.ย. แต่ยังไม่เซ็นสัญญาเลย ต้องรายงานไปยังกบอ. และครม. จากนั้นก็มาร่างสัญญา ต้องเอาสิ่งที่ตกลงกันได้แล้วมาแปลงเป็นเอกสารในสัญญา มีกระบวนการทำงาน"นายธงทอง กล่าว

นอกจากนี้ นายธงทองกล่าวว ได้กล่าวกับตุลาการไปว่ายังไม่มีการเซ็นสัญญาอย่างแน่นอน ไม่มีทางเร็วกว่า 2 เดือน ส่วนในระหว่างนี้ก็จะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมเพื่อความชัดเจน

ด้านนายอัชพร กล่าวถึง กรณีกลุ่มบุคคลร้องต่อศาลปกครองระงับโครงการบริหารจัดการน้ำว่า รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่ามีเรื่องอะไรที่ต้องทำรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งสิ่งที่เดินหน้ามาแต่ต้นจนถึงวันนี้ หลังจากน้ำเริ่มซาลง รัฐบาลก็มาตั้งคิดว่าทำอย่างไรไม่ให้น้ำท่วมปีถัดไปหรือในปีต่อๆไป ก็ไปเชิญผู้เชี่ยวชาญมา มาถึงที่มาการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำที่มีการพูดกันหรือมีการฟ้องกัน ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะเป็นเพียงแผนที่กำหนดเป็นหัวข้อ และมีหน่วยงานที่รับไปทำในรายละเอียด เป็นเพียงแนวทางภายในของภาครัฐว่าควรจะทำงานอย่างไรต่อไป

นายสุพจน์ กล่าวถึง โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่า เริ่มตั้งแต่หลังน้ำท่วมใหญ่ มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) เพื่อกำหนดนโยบายเป็นยุทธศาสตร์ จากนั้น กยน.ก็นำยุทธศาสตร์มาทำเป็นแผนแม่บท ในการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้งของประเทศไทย เอาปี 2554 และปี 2485 มาเป็นตัวอ้างอิงว่าต้องไม่เกิดเช่นนั้นอีก จากนั้นกำหนดกรอบว่ารัฐบาลจะทำอะไรบ้าง

คณะกรรมการบริหารจัการน้ำและอุทกภัย (กบอ.)ก็รับแผนแม่บทมาทำเป็นแผนปฏิบัติการ 2 ส่วน ระยะเร่งด่วน คือ ขุดลอกคูคลองหนอกบึง คันปิดล้อมอุตสาหกรรขนาดใหญ่ ลงเงินไป 3 หมื่นกว่าล้านบาท และระยะยั่งยืน มีการนำแผนแม่บทมาดำเนินการ ใช้เวลา 5 ปีวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ในวงเงินนี้ 1 หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องของอนาคตประเทศตัดออกไป ใน 3.5 แสนล้าน ทำ 2 ระดับ คือ เชิญชวนผู้สนใจที่มีความรู้ทั้งในและต่างประเทศมารับเอกสาร ใช้เวลา 3 เดือน ถ้าแต่ละผู้เชี่ยวชาญมาดูอาจมาวิเคราะห์ในการทำเพิ่ม เสนอเป็นกรอบแนวคิดของแต่ละกลุ่มที่เสนอมาดู จากนั้นซึ่งกระบวนการผ่านมา 6 เดือน เอากรอบที่ดีที่สุดมานั่งทำทีโออาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ