โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคได้รับแรงสนับสนุนจากความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศ สถาบันการเงิน และระบบการเงิน ตลอดจนการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ประเทศในภูมิภาคอาเซียน+3 ยังจะต้องเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจจากความเสี่ยงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพคล่องทางการเงินของโลกที่มีอยู่ในระดับสูงเนื่องจากการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของสินเชื่อ ปัญหาฟองสบู่ และความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะให้ความสำคัญต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมหภาคที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ตลอดจนยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงิน เพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาค
ที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าการแก้ไขความตกลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกความช่วยเหลือทางการเงินระหว่างกันของประเทศสมาชิกในภูมิภาคอาเซียน+3 หรือมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (CMIM) ตามมติที่ประชุมฯ เมื่อปีที่แล้ว ที่กำหนดให้เพิ่มขนาดของ CMIM เป็น 2 เท่า จากเดิม 120 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 240 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มสัดส่วนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Delinked Portion) เพื่อลดการพึ่งพากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในยามวิกฤต และการจัดตั้งกลไกให้ความช่วยเหลือช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis Prevention Facility) เพื่อป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นและป้องกันการลุกลามไปยังของประเทศสมาชิกอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งภายหลังจากนี้ ประเทศสมาชิกจะดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อเข้าร่วมลงนามในความตกลง CMIM ฉบับแก้ไขนี้ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 นี้
ที่ประชุมเห็นชอบให้ยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (ASEAN+3 Macroeconomic Research Office: AMRO) เป็นองค์การระหว่างประเทศ โดยให้มีสถานะความสำคัญ และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่าเทียมกับองค์การระหว่างประเทศทางการเงินอื่นๆ เช่น IMF และธนาคารพัฒนาเอเชีย ทั้งนี้ AMRO จะเป็นองค์การการเงินระหว่างประเทศองค์การแรกที่จัดตั้งโดยอาเซียน+3 ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างบทบาทของ AMRO ในการวิเคราะห์สถานการณ์และระวังภัยทางเศรษฐกิจของสมาชิกอาเซียน+3 ในเวทีโลก
นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามการดำเนินงานของมาตรการริเริ่มพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเซีย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินท้องถิ่นของภูมิภาคอาเซียน+3 ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ สามารถเป็นแหล่งระดมเงินทุนและเป็นทางเลือกในการออมของภูมิภาค โดยมีประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความสำเร็จของกลไกการค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) ของภูมิภาคอาเซียน+3 ซึ่งบริษัทเอกชนที่ CGIF ให้การค้ำประกันเครดิตในการออกพันธบัตรได้ออกพันธบัตรสกุลเงินบาทในประเทศไทยได้สำเร็จแล้ว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2556 โดยมีมูลค่า 2,850 ล้านบาทหรือประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาตลาดพันธบัตรของภูมิภาคอาเซียน+3
การให้ความเห็นการศึกษาความเป็นไปได้เรื่องการพัฒนาตลาดพันธบัตรเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Fostering Infrastructure Financing Bonds Development) เพื่อสนับสนุนด้านการเงินสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ซึ่งนายกิตติรัตน์ฯ ได้กล่าวสนับสนุนการศึกษาดังกล่าว โดยเห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของภูมิภาค และในขณะนี้อาเซียน+3 มีเงินออมในภูมิภาคเป็นจำนวนมาก จึงควรมีการหาแนวทางในการนำเงินออมเหล่านั้นมาลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศสมาชิก
ที่ประชุมได้รับทราบและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการศึกษาความเป็นไปได้ของความร่วมมือใหม่ 3 ด้านของอาเซียน+3 เพื่อขยายขอบข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินของภูมิภาคในอนาคต ได้แก่ ความร่วมมือทางการเงิน เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค การใช้เงินสกุลของภูมิภาค (Regional Currencies) สำหรับ การค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค และ ) การจัดตั้งกลไก/กองทุนการประกันภัยที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Disaster Insurance Scheme) ทั้งนี้ คาดว่าจะมีข้อสรุปนโยบายความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องดังกล่าวได้ภายในปีนี้
การประชุม AFMGM+3 ครั้งต่อไป ในปี 2014 จะจัดขึ้น ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน โดยมีประเทศพม่าและประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่เป็นประธานร่วม