ทั้งนี้ตนเองในฐานะผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชียของไทย กล่าวสุนทรพจน์ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตในระดับที่น่าพอใจที่ร้อยละ 6.4 และคาดว่าในปี 2556 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 และประเทศไทยได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาโดยเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ระดับปานกลาง การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุม การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ นอกจากนี้ ได้ระบุความสำคัญของการพัฒนาความร่วมมือในอาเซียน และการส่งเสริมบทบาทของธนาคารพัฒนาเอเชียในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงผ่านยุทธศาสตร์ความร่วมมือระดับประเทศและกองทุนพัฒนาเอเชีย
อนึ่งนายกิตติรัตน์ ได้หารือทวิภาคีกับ นายทาโร อาโซะ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังญี่ปุ่น ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นโดยมุ่งที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ เช่น ความร่วมมือในการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคโดยส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนในการเข้าร่วมลงทุน และแนวทางในการส่งเสริมการค้าและขยายการลงทุนระหว่างกันโดยเน้นในด้านการให้ความช่วยเหลือทางการเงินและสร้างความแข็งแกร่งแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค
นอกจากนี้ได้หารือกับ นายโนบุยูกิ ฮิราโนะ ประธานธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ โตเกียว เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนเพื่อสนับสนุนโครงการ “ไทยแลนด์ 2020" การพิจารณาขยายสาขาของธนาคารในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงรวมถึงประเทศไทย และแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง
ส่วนการหารือกับนายแอกเซล แวน ทรอทเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลก ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเสนอขอให้ประเทศไทยพิจารณาเป็นผู้บริจาคในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือประเทศยากจนในภูมิภาค การเสนอให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในเรื่องการพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) การเบิกจ่ายเงินกู้ของธนาคารโลกในส่วนที่เหลืออยู่ของไทย การจัดทำยุทธศาสตร์ของกลุ่มธนาคารโลก รวมถึงการหารือการใช้เงินธนาคารโลกในการสนับสนุนภาคเอกชนเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และบทบาทของธนาคารโลกในการส่งเสริมการพัฒนาโครงการในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้มีความน่าดึงดูดต่อนักลงทุน