รมว.คลังเผยธปท.เตรียม4มาตรการดูแลบาทแข็งแต่ยังไม่ใช้,บาทขณะนี้ยังไม่ปลอดภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 7, 2013 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แจ้งมาในหนังสือตอบกลับมายังกระทรวงการคลังว่า ธปท. ได้เตรียม 4 มาตรการเพื่อดูแลปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทหากมีความจำเป็น แต่ยังไม่ได้นำมาใช้ในขณะนี้ โดยบางมาตรการ ธปท.สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองในทันที ขณะที่มาตรการอื่น ๆ ยังต้องแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมจะสนับสนุนเพื่อให้มาตรการเหล่านั้นพร้อมใช้งานได้

ทั้ง 4 มาตรการที่ ธปท.เสนอมา ไม่สามารถเปิดเผยได้เพราะเป็นรายงานลับ แต่ยืนยันว่าส่วนที่มีความพร้อม ธปท.สามารถดำเนินการไปได้เลย แต่ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นมีการใช้มาตรการที่มีความพร้อม ซึ่งรู้สึกเป็นห่วงอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการไหลเข้าของเงินทุน และฐานะของคลังที่เอาไปค้ำยันค่าเงินบาทโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการมาตรการต่างๆ ขอให้ธปท.ดำเนินการด้วยความรอบคอบและทันต่อสถานการณ์ เพราะก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เคยมีมติว่าการจะนำมาตรการใดมาตรการหนึ่งออกมาใช้ต้อวพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ และหารือกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังมีความชัดเจนอยู่แล้ว แต่อยากให้ ธปท.ระบุให้ชัดเจนว่าต้องการให้หน่วยงานใดเข้ามาช่วยให้ความเห็น เนื่องจากการดำเนินการนโยบายการเงินเป็นอำนาจของ ธปท.และการหารือกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ว่าต้องไม่ใช่เป็นการส่งผ่านความรับผิดชอบให้ผู้อื่น

"เมื่อมีความเชื่อต่างกัน สิ่งที่บอร์ด กนง.เห็นเป็นอย่างไรก็ต้องดำเนินการไปอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ต้องชั่งน้ำหนักเพราะทุกมาตรการต้องมีข้อดีและข้อเสียคู่ขนานกันไป" นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่กระทรวงการคลังได้สอบถามไปในหนังสือที่ส่งไปยังผู้ว่าการ ธปท.ได้แก่ ภาวะสถานะการเงินของ ธปท.นั้น ธปท.ตอบว่ามา ณ สิ้น 30 ธ.ค.55 ส่วนทุนติดลบ 5.3 แสนล้านบาทเป็นผลจากต้นทุนดอกเบี้ยและการตีมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองอยู่เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแสดงผลขาดทุนมากขึ้น

ส่วนประเด็นแนวคิดต่อเรื่องดอกเบี้ยนั้น ธปท.ชี้แจงว่าการลดดอกเบี้ยแม้จะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนได้ แต่กังวลว่าส่วนต่างของดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยรอง เนื่องจากผู้ลงทุนคาดหวังผลเรื่องการแข็งค่าของเงินบาท และกำไรจากการลงทุนในตลาดหุ้นมากกว่า แต่ตนเองเห็นว่าเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล เพราะควรจะต้องเอาเรื่องของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเข้ามาพิจารณาประกอบกับเงินทุนไหลเข้าไหลออกด้วย จะไม่นำมาพิจารณาเลยคงไม่ได้

แต่ประเด็นมาตรการควบคุมดูแลการไหลเข้าของเงินทุนนั้น ธปท.ยังไม่ได้ชี้แจงมา

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ล่าสุดได้ทำหนังสือไปยัง ธปท.ไปอีกครั้งว่าเพื่อสอบถามปัญหาการขาดทุน 5.3 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่ธปท.และคณะกรรมการฯ จะต้องดูแลเนื่องจากมีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาดูแลตั้งแต่เดือน ก.ค.55 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแผนงานใดๆ ออกมาดูแลปัญหาในจุดนี้เลย เกรงว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป และไม่มีมาตรการออกมาดูแล ก็อาจจะทำให้เกิดภาระขาดทุนสะสมมากขึ้น ซึ่งทาง ธปท.น่าจะมีการทบทวนมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อสถานะการเงินด้วย

นอกจากนั้น นายกิตติรัตน์ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้สั่งการให้กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)ติดตามสถานการณ์เงินบาทแข็งค่าที่เกิดขึ้นว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างไร มาตรการใดที่ได้ดำเนินการไปแล้วและมีผลความคืบหน้าอย่างไร

ในวันนี้กระทรวงการคลังได้รายงานให้ที่ประชุม ครม.ทราบว่า สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาททุเลาลง มีเสถียรภาพมากขึ้น จากที่เคยลงไปต่ำกว่า 29 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้อยู่ระดับ 29 บาทกว่าๆ ว่ามีผลเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างไร รวมถึง รมว.พาณิชย์ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ก็ได้รายงานผลกระทบที่เกิดขึ้นด้วย อีกทั้ง รมช.คลังที่ดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ก็เป็นห่วงว่าค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้

แต่กระทรวงการคลังยังเห็นว่าการที่ค่าเงินบาทอยู่ต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ ทำให้การทำงานลำบาก เนื่องจากการประเมินสถานะทางเศรษฐกิจและการประเมินธุรกิจการค้าของผู้ส่งออกทำได้ยากลำบาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการคำนวณบนพื้นฐานค่าเงินบาทที่ไม่ต่ำกว่า 30 บาท/ดอลลาร์ แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็ทำให้การทำงานยากลำบาก

"ผมเคยพูดก่อนที่จะหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ แต่ตอนนี้คงทำงานยาก เพราะทุกหน่วยงานรวมถึงเอกชนก็ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจตอนที่เงินบาทสูงกว่า 30 บาท/ดอลลาร์...ค่าเงินบาทขณะนี้ยังไม่ใช่ระดับที่ปลอดภัยนัก"นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ