อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง เห็นว่าขณะนี้ยังไม่อยู่ในจังหวะที่จะต้องออกมาตรการใดเพิ่มเติมสำหรับการดูแลค่าเงินบาท แต่จะให้มีการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ จากที่ก่อนหน้านี้ กนง.จะคำนึงถึงเสถียรภาพด้านราคาโดยยึดกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นหลักการ แต่ขณะนี้มองว่าการแข่งขันทางการค้าและปริมาณเงินในโลกที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน จำเป็นต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าควรจะมีเป้าหมายของอัตราแลกเปลี่ยนให้สามารถแข่งขันได้ด้วย ไม่ใช่เป็นการยึดค่าเงินบาทที่เทียบกับดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่ต้องอิงกับสกุลเงินของคู่ค้าและคู่แข่งด้วย
"วันจันทร์นี้แม้จะเป็นวันหยุดราชการ แต่ภาคเอกชนไม่หยุด จะถือโอกาสมาคุยที่ทำเนียบฯ ทั้ง กนง. ภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านราคา ด้านอัตราแลกเปลี่ยน จะได้คุยกัน เพราะอดีตการทำงานยึดตัวกฎหมายทำให้การทำงานมีความไม่สบายใจกันขึ้น"นายกิตติรัตน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เงินบาทถือว่ามีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะเกิดจากภาครัฐที่มีความเห็นตรงกันมากขึ้น ส่วนการดูแลค่าเงินบาทในระยะต่อไปจะมีการใช้เครื่องมือดอกเบี้ย หรือการผสมผสานนโยบายหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องที่ ธปท.และ กนง.จะได้ดำเนินการ ซึ่งบางมาตรการเป็นเรื่องที่ ธปท.สามารถดำเนินการได้ทันที แต่บางเรื่องที่ต้องการขอการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังนั้นตนก็ยินดี แต่ขอให้มาตรการที่นำมาใช้มีความรัดกุมรอบคอบ
"หากมาตรการใดที่ต้องปรับปรุงข้อบังคับ หากแบงก์ชาติต้องการ คลังก็พร้อมยินดี แต่ตอนนี้ยังไม่อยู่ในจังหวะที่จะทำอะไร" รองนายกฯ และรมว.คลัง ระบุ