กสิกรฯชี้ยาง-ปาล์มยังเผชิญแรงกดดันจากอุปทานโลก แนะสร้างมูลค่าเพิ่มต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 10, 2013 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สถานการณ์การอ่อนตัวของราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบ นอกจากได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลกซึ่งมักแปรผันตามพัฒนาการของเศรษฐกิจหลักแล้ว ปัจจัยสำคัญที่กดดัน คือ ปริมาณสต็อกที่มีอยู่ทั้งในและต่างประเทศ

ปัจจัยด้านอุปทานจากปริมาณสต็อกทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีระดับสูง คงจะยังเป็นตัวแปรหลักที่กดดันราคายางพารา ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบของไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนสะท้อนภาพการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นจนนำมาสู่ความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นและมีผลในการลดปริมาณสต็อกยางจีนลง กอปรกับราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ดิ่งลง เมื่อผนวกกับการขยายเวลามาตรการจำกัดการส่งออกและการโค่นต้นยางภายใต้ความร่วมมือของ 3 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) และแนวทางที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการสนับสนุนการขยายตลาดส่งออกไปญี่ปุ่นและการลงทุนในอุตสาหกรรมปลายน้ำมากขึ้น ก็ทำให้คาดว่าราคายางพารามีโอกาสจะปรับตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นอกจากนั้น ในอนาคต ข้อเสนอที่จะให้ทางการพิจารณานำยางพาราไปใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการจัดตั้งรับเบอร์ซิตี้ระหว่างมาเลเซียและไทย ถ้ามีความชัดเจนมากขึ้น ก็คงจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนราคายางได้เช่นกัน

สำหรับปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มดิบนั้น ในระยะสั้น มาตรการของทางการไทยในการรับซื้อปาล์มที่เหลืออยู่อีก 5 หมื่นตัน และการสนับสนุนการใช้ปาล์มในการผลิตพลังงานทดแทนของไทย (บี 5 และบี 7) คงจะช่วยพยุงราคาปาล์มไม่ให้ตกต่ำลงอย่างรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ในระยะถัดๆ ไป ความเป็นไปได้ที่ราคาจะฟื้นตัว คงต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของ 2 ประเทศผู้ผลิตและส่งออกหลักอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นหลัก ขณะเดียวกัน แม้ว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร มิใช่อาหาร และพลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล) จะยังมีอยู่ในระดับสูง แต่หากราคาปาล์มปรับตัวสูงขึ้น ผู้ผลิตที่มีความยืดหยุ่นก็อาจพิจารณาใช้พืชอื่นเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารและการผลิตไบโอดีเซลทดแทนได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน น้ำมันมะพร้าว น้ำมันจากไขสัตว์ รวมถึงสบู่ดำ นอกจากนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่เร่งขึ้นมาก ความต้องการนำพืชพลังงานไปใช้ทำไบโอดีเซลก็อาจจะมีไม่มากตามไปด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกยางพาราและน้ำมันปาล์มดิบเป็นอันดับที่ 1 และ 3 ของโลก ตามลำดับ แต่การกำหนดราคายังต้องอิงกับความต้องการของผู้นำเข้า และ/หรือนโยบายของคู่แข่งด้วย ดังนั้น การดำเนินนโยบายเพื่อดูแลราคาในประเทศอย่างยั่งยืน จึงควรต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสายการผลิตอย่างรอบด้าน โดยนอกจากแผนการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตรสำคัญ และการเตรียมยกร่างกฎหมายเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มที่ภาครัฐอยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ครอบคลุมทั้งสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของทั้งยางพาราและปาล์ม รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ ไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ