"กระทรวงฯ ได้ตั้งเป้าหมายให้สินค้าและธุรกิจบริการด้านเกษตรอินทรีย์ไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยรัฐบาลไทยได้มีส่วนร่วมรณรงค์การใช้วิถีชีวิตพึ่งพิงธรรมชาติ ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมในเชิงอนุรักษ์ ลดเลิกการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เร่งผลผลิตโดยใช้สารเคมี และการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อลดความกังวลและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั่วโลก และที่สำคัญเพื่อรณรงค์การดูแลรักษาสุขภาพของกลุ่มผู้ผลิตไปจนถึงผู้บริโภค เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของคนในชาติให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน" นางนันทวัลย์ กล่าว
นับตั้งแต่ปี 2553 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทยมีเป้าหมายขยายเพิ่มขึ้นได้ร้อยละ 20 ต่อปีภายในสิ้นปี 2556 พื้นที่(เกษตรอินทรีย์+ระยะปรับเปลี่ยน) รวมเป็น 370,000 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่พืชไร่อินทรีย์จะมีอัตราการขยายตัวมากที่สุด ประมาณการว่า ในปีนี้ผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีจำนวน 80,000 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท
นางนันทวัลย์ กล่าวว่า จากกรอบแนวคิดของภาครัฐในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล จึงได้กำหนดแนวทางสำคัญในการขับเคลื่อนการค้าเกษตรอินทรีย์แบ่งเป็น 2 แนวทางสำคัญ คือ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ โดยสนับสนุนด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยต่อสุขภาพของเกษตรกร เทคนิคการใช้ปัจจัยในการเพาะปลูก เพาะเลี้ยง และการแปรรูป รวมทั้งคุณประโยชน์ของผลิตภัณฑ์สำหรับการบริโภคในท้องถิ่น และกระจายไปยังกลุ่มเป้าหมาย
และ 2.การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ในเชิงพาณิชย์ โดยหน่วยงานภาครัฐภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ร่วมกันอำนวยความสะดวก และดูแลเพื่อการดำเนินธุรกรรมต่างๆ ตั้งแต่ระดับเกษตรกรท้องถิ่นไปจนถึงผู้ส่งออก เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างแรงจูงใจในการซื้อขาย โดยการจัดหาข้อมูลการตลาด การพัฒนาแนวทางการแปรรูป บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของแต่ละตลาด ระบบโลจิสติกส์ และเพิ่มพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ไว้รองรับผลผลิตของชุมชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ และการส่งออกยังตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังเห็นด้วยที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินการในเชิงบูรณาการสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกัน ทั้งผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในลักษณะตลาดเครือข่าย รวมถึงการสร้างตราสินค้าเกษตรอินทรีย์ไทยให้เป็นที่ยอมรับ
"ภารกิจหลักของกระทรวงพาณิชย์จากนี้ไปจะมุ่งมั่นในการสร้างศักยภาพเกษตรอินทรีย์ไทยเชิงพาณิชย์สู่สากล สนับสนุนส่งเสริมการขยายตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในกลุ่มสินค้าทั้งที่เป็นอาหาร มิใช่อาหาร และธุรกิจบริการ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยร่วมมือกับทุกๆ หน่วยงานแบบบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดโลกต่อไป" นางนันทวัลย์ กล่าว