หอการค้าไทย แนะภาครัฐกำหนดกลไกเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อสกัดบาทแข็งได้ทันที

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 10, 2013 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ได้รับคำเชิญจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้เข้าหารือสถานการณ์ค่าเงินบาทในวันจันทร์ที่ 13 พ.ค.นี้เวลา 10.00 น. โดยคาดว่าน่าจะเป็นการนัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมสรุปข้อมูลจากรอบด้านว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไรกันไปบ้างมากกว่า
"ผมเดาว่าคงจะเป็นการฟังข้อมูลจากแต่ละหน่วยงานว่าแต่ละหน่วยงานทำอะไรกันไปบ้างในช่วงที่สถานการณ์เงินบาทเป็นแบบนี้ เพื่อ Update ข้อมูลว่าเอกชนคิดอะไร เพราะในจดหมายเชิญไม่มี Agenda อะไรแนบมา"นายพรศิลป์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นายพรศิลป์ กล่าวว่า การนัดหารือกับพร้อมหน้าพร้อมตาแบบนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างพูดกันไปคนละอย่าง นัดหารือพร้อมกันแบบนี้จะได้รับฟังปัญหาและแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน จะได้หาทางออกร่วมกันอย่างไร

"อยากให้มีกลไกล่วงหน้า หรือเตือนภัยล่วงหน้า เพื่อวันหน้าเกิดอะไรขึ้นจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที ควรจะมีมาตรการ 1 2 3 4.....อย่างเงินบาทที่แข็งค่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐมีข้อมูลแล้วว่าแข็งค่าจากอะไร จากเงินทุนไหลเข้า ที่นี้ไหลเข้าไปทางไหนเรารู้แล้ว เราก็ต้องใช้มาตรการหรือกลไกเพื่อสกัดตรงนั้น"นายพรศิล์ป กล่าว

สำหรับเงินบาทวันนี้ที่อยู่ที่ระดับ 29.58/59 บาท/ดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าขึ้นมาเกือบจะใกล้เคียงกับเพื่อนบ้านเรา แต่กลไกต่างๆเพื่อดูแลค่าเงินบาทก็ควรจะต้องมี เพราะอัตราแลกเปลี่ยนมันเกิดขึ้นได้บ่อยๆ หากมีกลไกเตือนภัยล่วงหน้าจะได้ไม่ต้องมาแก้ปัญหาทุกครั้ง

อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า 4 มาตรการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมนำมาใช้ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1.การกำหนดห้ามนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรของ ธปท.หรืออาจกำหนดระยะเวลาการถือครองพันธบัตร เพื่อป้องกันการนำเงินเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าว ธปท. สามารถดำเนินการได้เองและเคยดำเนินการมาแล้วในอดีต

มาตรการที่ 2. การกำหนดห้ามนักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรระยะสั้นของทั้งรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจที่มีอายุ 3-6 เดือน เพื่อป้องกันการเก็งกำไร

มาตรการที่ 3 การจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมเมื่อนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และได้ผลกำไร โดยมาตรการนี้จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายโดยกระทรวงการคลัง

และมาตรการที่ 4 เป็นการบังคับให้นักลงทุนต่างชาติป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับเงินลงทุนที่นำเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เพื่อไม่ให้ได้รับผลตอบแทนจากค่าเงินในเชิงบวก และไม่ต้องรับความเสี่ยงในเชิงลบ โดย ธปท.ยอมรับว่าเป็นแนวทางที่ไม่เคยใช้ในประเทศใดในโลก

นายพรศิลป์ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า 4 มาตรการของ ธปท. มีความเหมาะสม ขึ้นอยู่กับว่าจะนำมาใช้จริงหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ