เงินบาทปิด 29.69/71 อ่อนค่า รอผลหารือคลัง-ธปท.-กนง.-เอกชนจันทร์นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 10, 2013 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ที่ระดับ 29.69/71 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากช่วงเช้าที่ระดับ 29.58/59 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทไปทำโลว์ที่ระดับ 29.55/57 บาท/ดอลลาร์ และทำไฮที่ระดับ 29.75/77 บาท/ดอลลาร์
"เงินปรับตัวในทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากตลาดมีความกังวลว่าจะมีการใช้มาตรการสนับสนุนให้เงินบาทอ่อนค่าหรือไม่" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน กล่าวว่า คงไม่สามารถประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าได้ เนื่องจากมีปรับตัวในวงกว้างมาก คงต้องรอดูผลประชุมเรื่องค่าเงินในวันจันทร์(13 พ.ค.56) นี้ก่อน

*ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 101.30/32 เยน/ดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 101.06 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.3003/3006 ดอลลาร์/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับ 1.3040 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,622.48 จุด เพิ่มขึ้น 1.36 จุด, +0.08% มูลค่าการซื้อขาย 50,644.04 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 2,416.72 ล้านบาท(SET+MAI)
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อสร้างความเข้าใจหลังมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการทำหน้าที่ดูแลเศรษฐกิจของ ธปท. ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนและกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ธนาคารกลางของประเทศได้ ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลักที่ทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศมากว่า 70 ปี โดยครอบคลุม 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ บทบาทหน้าที่และความเป็นอิสระของ ธปท., การดูแลความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน, การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย และการขาดทุนจากการดำเนินงานของ ธปท.
  • นายศิริ การเจริญดี อดีตรองผู้ว่าการ ธปท.ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับรัฐบาลและภาคเอกชนเกี่ยวกับปัญหาค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้าว่า ไม่ขัดข้องหากรัฐบาลเชิญไปหารือในลักษณะการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่ได้สร้างแรงกดดันให้กับ กนง. แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าจะเป็นการแทรกแซงการทำงานหรือไม่ เพราะยังไม่ทราบประเด็นที่จะพูดคุยกัน
  • เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของกลุ่มประเทศ G-7 จะร่วมประชุมในวันนี้ที่อังกฤษ เพื่อหารือกันเกี่ยวกับการผลักดันเศรษฐกิจทั่วโลกให้ขยายตัวอย่างยั่งยืนและมีความสมดุล โดยคาดว่า รมว.การคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศกลุ่ม G-7 จะมุ่งความสนใจไปที่นโยบายผ่อนคลายทางการในเงินเชิงรุกของญี่ปุ่น เนื่องจากดอลลาร์ทะลุระดับ 100 เยนเมื่อคืนนี้ที่ตลาดนิวยอร์ก ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 4 ปี
  • นายเหยา เจี้ยน โฆษกกระทรวงการคลังของจีน ระบุข้อมูลการค้าของจีนสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน และได้รับแรงหนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในบริเวณตอนกลาง และทางตะวันตกของประเทศนั้นช่วยให้จีนมีข้อได้เปรียบหลายประการด้วยกัน รวมถึงความพยายามในการสำรวจตลาดที่กำลังเติบโต และมาตรการส่งเสริมการค้าต่างๆ ทั้งนี้สำนักงานศุลกากรของจีน(GAC) เผยมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในเดือน เม.ย.อยู่ที่ 2.23 ล้านล้านหยวน(3.5596 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 15.7% จากปีก่อน
  • ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส (PwC) เผยธนาคารพาณิชย์จีนมีแนวโน้มมีกำไรลดลงในปี 2556 หลังจากที่อัตราการเติบโตของกำไรได้ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา ทำให้ธนาคารพาณิชย์จะยังคงเผชิญกับภาวะการดำเนินงานที่ยากลำบากในปี 2556
  • นายเจอร์รี ไรซ์ โฆษกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) เผย IMF เชื่อว่า "การผสมผสานอย่างเหมาะสม" ของนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปทางการคลัง การเงิน และการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่ดำเนินการในจังหวะเวลาที่เหมาะสมมีความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นในเดือน เม.ย.ได้ปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายเสื้อผ้าในฤดูใบไม้ผลิ ขณะที่ผู้ผลิตมีกำไรเพิ่มขึ้นเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี เผยยอดส่งออกเดือน มี.ค.ขยายตัว 0.5% จากระดับเดือน ก.พ. ซึ่งการส่งออกปรับตัวลง 1.2% โดยถือเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจกำลังเริ่มที่จะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่หดตัวลงในช่วงสิ้นปีที่แล้ว ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน มี.ค.หลังจากร่วงลง 3.9% ในเดือน ก.พ. และเมื่อเทียบรายปี ทั้งการส่งออกและนำเข้าในเดือนมี.ค.ต่างก็ลดลง โดยการส่งออกปรับลง 4.2% ขณะที่การนำเข้าหดตัว 6.9%
  • สำนักงานสถิติอินเดีย เผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียในเดือน มี.ค.ขยายตัวขึ้น 2.5% เมื่อเทียบรายปี หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือน ก.พ. โดยการผลิตของอินเดียขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 5 เดือน หลังจากที่ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ธนาคารกลางอินเดียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งแล้วในปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งขยายตัวในอัตราที่อ่อนแรงมากที่สุดในรอบ 10 ปีเมื่อปีที่แล้ว โดยคาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจะโตขึ้น 5.7% ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค.2557 เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ 5.5%
  • นายอากิระ อะมาริ รมว.ฟื้นฟูเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าญี่ปุ่นกำลังปั่นค่าเงินเพื่อกระตุ้นการส่งออก หลังดอลลาร์พุ่งทะลุ 100 เยน/ดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ