ที่ประชุมวันนี้ได้หารือถึงภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการรับทราบข้อมูลปัญหาของภาคเอกชน เช่น การขาดแรงงาน, ประสิทธิภาพด้านการผลิต และความสามารถในการแข่งขัน โดยต่างเห็นตรงกันว่ายังมีปัญหาที่ต้องเผชิญและเป็นความท้าทายในทุกภาคส่วน พร้อมมองว่ายังมีความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงโดยทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเตรียมรับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มีความเข้าใจร่วมกันว่า แม้เงินบาทจะมีความผันผวน แต่จะเห็นว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเช่นเดียวกับทิศทางสกุลเงินอื่นในภูมิภาคที่อ่อนค่าลง หลังจากที่เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ถือเป็นอุธาหรณ์ว่าไม่ควรประมาทหรือวางใจแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย โดยต้องมีการพิจารณาแนวทางแก้ไขสำหรับภาพรวมในระยะกลางและระยะยาวที่ยังมีปัญหาต้องเผชิญในอีกหลายมิติ ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ใช่เฉพาะตลาดอัตราแลกเปลี่ยนหรือการเงินโลกเท่านั้น
ผู้ว่าฯ ธปท. มองว่า การประชุมวันนี้ไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการประชุม กนง.ในวันที่ 29 พ.ค. และการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรร มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันไม่เฉพาะแต่เรื่องการเงินเท่านั้น
พร้อมเชื่อว่า การประชุม กนง.ในรอบถัดไปจะได้รับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงและใกล้เคียงข้อเท็จจริงมากที่สุด หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะแถลงภาวะเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 1/56 และแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ กนง.ได้รับทราบข้อมูลล่าสุดก่อนที่จะนำไปใช้ตัดสินใจในเรื่องการดูแลค่าเงินบาทต่อไป
อย่างไรก็ดี ผู้ว่าฯ ธปท.ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่อง 4 มาตรการที่ธปท.เคยนำเสนอต่อกระทรวงการคลังไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากมองว่าการออกมาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวอาจทำให้ต่างประเทศตีความไปเกินจำเป็นได้
นายประสาร กล่าวด้วยว่า รมว.คลังได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่าการประชุมในลักษณะเช่นนี้ควรจะจัดให้มีขึ้นอีก แต่อาจเปลี่ยนหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่ง ธปท.ก็ยินดีที่จะรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน เพราะหลายปัญหาต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากหลายฝ่าย