(เพิ่มเติม) เอกชนมั่นใจ GDP ปีนี้โตเกิน 5% หากรัฐ-เอกชนบูรณาการแก้ปัญหาบาทให้มีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 13, 2013 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมร่วมระหว่างกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ไม่ได้หยิบยกมาตราการใดมาหารือเป็นพิเศษ รวมถึงการลดดอกเบี้ย เพียงแต่ ธปท.ได้รับฟังปัญหาของทางภาคเอกชน โดยธปท.ยืนยันว่าจะดูแลอย่างใกล้ชิด และเพื่อรับทราบถึงผลกระทบ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน

ทั้งนี้ ถือว่าบรรยากาศการพูดคุยวันนี้เป็นไปด้วยดี เชื่อว่าหากภาครัฐและภาคเอกชนยังร่วมมือกันทำงานแบบนี้ ยังมีโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตในระดับเกิน 5% ขึ้นไปได้

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนได้สะท้อน ข้อมูลผลกระทบเรื่อง Supply Chain จากสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็งค่า รวมถึงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาค่าเงินบาทได้ได้เข้าไปมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์

พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนยืนยันว่าหากทุกหน่วยงานร่วมมือร่วมใจเข้ามาช่วยกันการทำงาน ก็เป็นการตอกย้ำการทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพและดูแลค่าเงินบาทในช่วงเวลาที่เหมาะสม

นายพยุงศักดิ์ กล่าวต่อว่า อยากให้ดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับภูมิภาค เนื่องจากหากเทียบกับเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นแล้ว เงินบาทถือว่ามีช่วงห่างกับเงินเยนค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯยังได้พูดถึงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งที่ประชุมฯเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกยังมีความผันผวนอยู่จึงจำเป็นต้องดูแลให้ดี

สุดท้ายนี้ ส.อ.ท.ไม่ได้ห่วงเรื่องมาตรการที่จะออกมาควบคุมดูแลค่าเงินบาทของ ธปท. แต่สนใจเรื่องของผลลัพธ์จากการที่มีมาตรการหนักเบาออกมาว่าจะสามารถดูแลค่าเงินให้มีเสถียรภาพได้หรือไม่

นายพยุงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมฯ ยังเห็นตรงกันว่าหากมีการหารือกันในครั้งหน้าอาจจะมีการหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ ซึ่งทั้ง ส.อ.ท.และ ธปท.ต่างยืนยันความพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพ

ขณะที่นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย(KTB) ในฐานะตัวแทนสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ในที่ประชุมวันนี้ ภาคเอกชนได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผู้ประกอบการต้องการเห็นเงินบาทที่มีเสถียรภาพ แม้ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทจะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงบ้างแล้ว

ทั้งนี้ สมาคมธนาคารไทย ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้า โดยแนะนำให้ลูกค้าทำประกันความเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ปลายปี 55 จนถึงปัจจุบัน ธนาคารได้เพิ่มวงเงินการทำประกันความเสี่ยงของลูกค้าเพิ่มขึ้น และผู้ส่งออกทุกรายต่างทำประกันความเสี่ยง เพียงแต่การทำประกันความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละรายอาจแตกต่างกันไปในเรื่องของระยะเวลา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ