รมว.คลังเผยไม่ได้กดดันกนง.ลดดอกเบี้ยแค่ขอให้ใช้มาตรการดูแลบาทเหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 13, 2013 13:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง, คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และภาคเอกชน 3 สถาบันในวันนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันใน 4 เรื่องสำคัญ คือ 1.การใช้จ่ายภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เกิดการลงทุนใหม่หรือขยายการลงทุนเดิม 3.ทิศทางและกำลังซื้อของผู้บริโภค 4.สถานการณ์การส่งออกและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ที่ประชุมฯเห็นตรงกันว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตได้ดี แม้ในปี 55 เศรษฐกิจจะเผชิญความยากลำบากจากการเพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาอุทกภัยใหญ่ในปลายปี 54 รวมทั้งปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้า ส่วนการส่งออกในปีนี้ เห็นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนควรทำงานร่วมกัน นอกเหนือจากเรื่องการดูแลปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น เห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าเกินไปและมีความผันผวนจะทำให้การส่งออกขยายตัวลำบาก ทุกภาคส่วนควรดูแลและทำงานร่วมกันให้เงินบาทเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพไม่มีความผันผวนเมื่อเทียบกับสกุลเงินของทั้งประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่ง เพื่อให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ซึ่งค่าเงินที่สามารถแข่งขันได้นั้นจึงไม่ควรเทียบเฉพาะสกุลดอลลาร์เท่านั้น แต่ต้องเทียบกับทั้งสกุลเงินของประเทศคู่ค้าและประเทศคู่แข่งด้วย

ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่เป็นอีกส่วนสำคัญในการสร้างรายได้เข้าประเทศนั้น จะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยและพำนักของชาวต่างชาติ ขณะที่ภาคการผลิตเพื่อการส่งออกได้มีการหารือกันถึงการรักษาฝีมือแรงงาน ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีฝีมือ

"วันนี้ไม่ได้พูดเจาะจงเรื่องการส่งออก แต่พูดถึงเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ถึง เพราะเมื่อรวมกลจักรเศรษฐกิจอื่นๆ ก็น่าจะขยายตัวได้" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมมองว่า กรณีอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะดูแลการไหลเข้าออกของเงินทุน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่ได้หารือกัน แต่โดยภาพรวมวันนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และต้องทำให้การส่งออกเติบโตได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนในระดับเหมาะสม

อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนไม่ได้คาดหวังถึงการเข้าไปควบคุมเงินทุนไหลเข้าออก แต่ต้องการให้หน่วยงานที่กำกับดูแลช่วยพิจารณาแนวทางการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม ดังนั้น กนง.และธปท.ต้องสามารถสื่อสารระหว่างกัน และขอฝากให้มีการพิจารณาให้มากขึ้นเกี่ยวกับมาตรการที่จะนำมาใช้ในการดูแลค่าเงินบาทอย่างรอบคอบระมัดระวัง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีเสถียรภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ