Analysis: แบงก์ชาติจีนยังคงจุดยืนเดิมสวนทางธนาคารกลางหลายแห่งที่ดาหน้าลดอัตราดอกเบี้ย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 15, 2013 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำชี้ขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และลดค่าเงินของประเทศ เพื่อรับมือกับเงินเยนที่ร่วงลง แต่จีนยังคงยึดมั่นในจุดยืนเดิม เพราะเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะสามารถยืนหยัดรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวลง

กระแสการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารกลางของประเทศต่างๆในยูโรโซน ธนาคารกลางอินเดีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ โปแลนด์ และอิสราเอล ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ทั่วโลก รวมทั้งเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก จนทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำให้ค่าเงินของประเทศอ่อนตัวลงเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน

เฟลิกซ์ ฮุฟเนอร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกของสถาบันอินเตอร์เนชั่นแนล ไฟแนนซ์ (IIF) ซึ่งสถาบันการเงินกว่า 450 แห่งทั่วโลกร่วมเป็นสมาชิก กล่าวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า ผมคิดว่า แนวโน้มดังกล่าวคงจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกสักพัก

ฮุฟเนอร์ กล่าวว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วนั้น อ่อนตัวลงมาก ส่วนดีมานด์ภายในประเทศก็ยิ่งอ่อนแอเข้าไปอีก เนื่องการคุมเข้มด้านการคลัง และเราก้มีปัญหาในภาคการธนาคาร นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมธนาคารกลางสหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับใกล้เคียงกับระดับศูนย์ และยังใช้นโยบายเงินตราแบบใหม่

เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารกลางสหรัฐได้ซื้อพันธบัตรระยะยาวมูลค่า 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อฉุดอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้ลดลง และกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ได้เปิดเผยมาตรการผ่อนปรนเชิงรุกมากขึ้นเมื่อเดือนเม.ย. โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มฐานเงินตราอีก 2 เท่าในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อที่จะยุติภาวะเงินฝืดในประเทศ

ฮุฟเนอร์กล่าวว่า เนื่องจากมาตรการเหล่านี้ ทำให้มีกระแสเงินไหลออกจากเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วมายังตลาดเกิดใหม่ และตลาดเกิดใหม่ก็รับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย

เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งลดอัตราดอกเบี้ยลง ก็จะทำให้ความสนใจของนักลงทุนที่ถือครองเงินลดน้อยลง และยังทำให้ค่าเงินอ่อนตัวลง

ฮุฟเนอร์กล่าวด้วยว่า ธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ได้ลดดอกเบี้ยลงก เพราะเงินเยนที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศเหล่านี้ โดยเงินเยนอ่อนค่าลงไปประมาณ 30% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ช่วงต้นเดือนต.ค. 2555

จีนยังคงยึดจุดยืนเดิม

แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีแนวโน้มว่าจะเดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยกันมากขึ้น แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายรายก็ไม่ได้มองว่า ธนาคารกลางจีนจะเดินรอยตามธนาคารกลางเหล่านี้ในระยะใกล้

เฟง กัว นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสฝ่ายเอเชียแปซิฟิคของ IIF กล่าวกับซินหัวว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของจีนในไตรมาสแรกที่ 7.7% นั้น ไม่ใช่ตัวเลขที่ต่ำมาก และยังคงอยู่สูงกว่าตัวเลขเป้าหมายของรัฐบาลที่ 7.5% แต่เงินเฟ้อกลับเป็นเรื่องที่ธนาคารกลางจีนหนักใจ โดยดัชนี CPI ของจีนนั้น ขยายตัว 2.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี

กัวเชื่อว่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงนั้น มีผลกระทบในวงจำกัดต่อเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากการผ่อนปรนด้านเงินตราของธนาคารกลางญี่ปุ่นนั้นทรงพลังน้อยกว่าธนาคารกลางสหรัฐ และเงินเยนก็ไม่ได้มีความสำคัญมากไปกว่าดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินสำรองในระดับสากล

กัวกล่าวว่า ความสำคัญของการส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นสำหรับจีนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น เรียกได้ว่ามีความสำคัญลดลง ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของจีนในปีที่แล้ว

กัวกล่าวว่า การแข่งขันกันโดยตรงระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตในจีนและญี่ปุ่นนั้นก็มีอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากญี่ปุ่นได้ส่งออกสินค้าไฮเอ็นด์และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มเสียเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่ขึ้นระหว่างจีนและประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอื่นๆ ซึ่งได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงไปเมื่อเร็วๆนี้ และสามารถดึงดูดเงินที่ต้องการเก็งกำไรเข้ามาในจีนได้มากขึ้น และทำให้เงินเยนนั้นตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้มีการทำให้เงินหยวนแข็งค่า

แนวคิดใหม่

ฮุฟเนอร์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในอนาคต เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้

ในแง่ของอัตราดอกเบี้ยนั้น แนวโน้มมีเสถียรภาพ แต่ธนาคารกลางต่างๆจะใช้แนวทางใหม่มากขึ้น ที่ผ่านมา ธนาคารกลางต่างๆได้เดินมาถึงจุดที่เรียกได้ว่าเป็นเพดานหรือข้อจำกัดของตนเองแล้ว ฮุฟเนอร์กล่าว

ฮุฟเนอร์กล่าวถึงโครงการจัดสรรเงินเพื่อการปล่อยกู้ของธนาคารกลางอังกฤษที่ได้มีการนำมาใช้เมื่อเดือนก.ค.ปีที่แล้ว เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง และปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทขนาดเล็กนั้น ยังไม่สามารถช่วยอะไรได้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องคิดใหม่ และใช้เครื่องมือใหม่ ธนาคารกลางยุโรปกำลังพิจารณาเรื่องการให้การสนับสนุนด้วยการปล่อยกู้ให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้นทางเลือกและการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ จึงเป็นสิ่งที่เราควรจะคิดไว้ ฮุฟเนอร์กล่าว

ฮุฟเนอร์กล่าวด้วยว่า เราจะต้องคิดถึงแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่การลดอัตราดอกเบี้ยแบบเดิมๆ หรือการผ่อนปรนนโยบายเชิงปริมาณแบบเดิมๆ แต่ต้องเป็นนโยบายที่ตรงเป้าหมายมากกว่านี้

เมื่อเร็วๆนี้ นายมาริโอ ดรากิ ประธานธนาคารกลางยุโรป กล่าว่า อีซีบีกำลังพิจารณาเรื่องการซื้อสินทรัพย์ด้วยวิธีการที่เป็นไปได้เพื่อให้การสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อแก่เอสเอ็มอี ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะทำให้อัตราว่างงานในยูโรโซนปรับตัวลง

บทวิเคราะห์โดย กัว ปัง และหวาง ซงไค จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ