สำหรับการประชุมครั้งต่อไปจะเรียนเชิญนายแพทย์พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย เข้าร่วมหารือด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีแนวทางในการรักษาเสถียรภาพราคายางที่มีรายละเอียดมากขึ้นและมีข้อสรุปร่วมกันที่ชัดเจนในการประชุมครั้งต่อไป
ส่วนความคืบหน้าในส่วนของโกดังสวนกิตติ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการเรียบร้อยสมบูรณ์ โดยบริษัทประกันภัยได้แจ้งหนังสือยืนยันการรับประกันเข้ามาแล้ว ซึ่งยางจากทางภาคอีสานใน จ.ศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนม ประมาณ 2 หมื่นตัน ที่อยู่ในโรงงานขององค์การสวนยาง ขณะนี้กำลังเร่งผลิตและทยอยขนย้ายนำเข้ามา คาดว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะเข้ามาครบทั้งหมด
ส่วนกรณียางที่สื่อมวลชนเห็นว่าถูกเก็บกองไว้ที่ จ.ศรีสะเกษ และอุดรธานี ซึ่งได้มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบมาแล้วนั้น ขณะนี้กำลังเคลื่อนย้ายเข้าสู่โรงงานผลิตเพื่อแปรรูปมาเข้าโกดังดังกล่าว โดยภายใน 1 สัปดาห์นับจากนี้ไป โรงงานขององค์การสวนยางจะไม่มียางที่ค้างไว้อีกแล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของค่ายางที่ยังไม่ได้จ่ายให้กับสถาบันเกษตรกร ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ตรวจสอบพบว่าเอกสารไม่ถูกต้อง ส่อว่าจะมีการสวมสิทธิ์นั้น ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ที่เกิดปัญหา โดยให้ผู้ว่าฯ เร่งเข้าไปตรวจสอบ หากมีหลักฐานว่ามีการสวมสิทธิ์จริงก็จะดำเนินคดีกับสถาบันเกษตรกรนั้นๆ ตามกฎหมายต่อไป