2. เร่งรัดการพัฒนากลไกการหมุนเวียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน เนื่องจากอายุมากและไม่มีผู้สืบทอดอาชีพเกษตรกรรรม แต่ไม่นำที่ดินคืนให้ ส.ป.ก. เนื่องจาก ส.ป.ก.ยังขาดความชัดเจนเรื่องการจ่ายค่าชดเชยกรณีที่เกษตรกรได้ลงทุนในพื้นที่แล้ว จึงเกิดปัญหาการละทิ้งที่ดิน ไม่ใช้ประโยชน์หรือปล่อยให้ผู้อื่นเช่า หรือเกิดการซื้อขายแบบผิดกฎหมาย ที่ดินบางส่วนจึงตกไปอยู่กับนายทุนที่ดินรายใหญ่ ทำให้ที่ดินนั้นไม่ได้นำมาจัดให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือผู้ไร้ที่ดินทำกินที่รอโอกาสการได้รับจัดสรร
"การพัฒนากลไกการหมุนเวียนที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินนั้น ส.ป.ก.ควรเร่งรัดการกำหนดเกณฑ์ราคาประเมินที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการจ่ายค่าชดเชย เพื่อรับคืนที่ดินจากเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนี้ ควรเร่งพัฒนากองทุนเพื่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการรับคืนที่ดิน หรือหมุนเวียนที่ดินจากเกษตรกรรายเดิมให้เกษตรกรรายใหม่ ทั้งในกรณีการคืนที่ดินปกติและกรณีเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้กับ ธ.ก.ส.หรือสถาบันการเงินอื่นๆ" นายชวลิต กล่าว
พร้อมระบุว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 มีเกษตรกรยากจนจำนวน 6.6 แสนรายที่ไร้ที่ดินทำกิน สะท้อนให้เห็นถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชนในบางกลุ่ม ซึ่งส่งผลต่อการสร้างรายได้และการสะสมสินทรัพย์ เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของครัวเรือน
ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) พบว่าในปี 54 มีเกษตรกรที่เช่าที่ดินผู้อื่นประมาณ ร้อยละ 19.6 ของที่ดินเกษตรทั้งหมด 149.25 ล้านไร่ ซึ่งพบในภาคกลางสูงที่สุดประมาณ ร้อยละ 36 โดยมีมากกว่า 10 จังหวัดที่มีการเช่ามากกว่าร้อยละ 40 และพบสูงที่สุดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีการเช่ามากถึงร้อยละ 72 นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่เกษตรกรต้องจ่ายค่าเช่าสูง และการเช่าส่วนใหญ่ไม่มีการทำสัญญาเช่าที่ถูกกฎหมาย หรือสัญญาเช่าไม่สมบูรณ์นำไปสู่การเช่าที่ไม่เป็นธรรมของเกษตรกรรายย่อย
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกิน โดยเร่งกระจายการถือครองที่ดินให้กับเกษตรกร หรือผู้ไร้ที่ดินทำกินที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้ผู้ไร้ที่ดินทำกิน แต่ที่ผ่านมา ส.ป.ก.ได้จัดหาที่ดินเอกชนโดยการจัดซื้อหรือเวนคืนน้อยมาก เนื่องจากได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการในพื้นที่ของรัฐ ซึ่งมีเกษตรกรครอบครองอยู่เดิมตามนโยบายของรัฐ และปัจจุบันที่ดินของรัฐที่สามารถจัดได้นั้นกำลังจะหมดไป โดยรัฐยังขาดกลไกและมาตรการที่ชัดเจนในการรับคืนที่ดินจากเกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดิน นอกจากนี้แล้ว ยังมีปัญหาจากข้อจำกัดของข้อกฎหมายบางมาตรา รวมถึงความซับซ้อนของขั้นตอนการจัดซื้อที่ดินที่ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการจัดซื้อที่ดินเอกชน