ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลลาร์ร่วงหลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนแอ

ข่าวต่างประเทศ Friday May 17, 2013 06:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (16 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ขณะเงินเยนแข็งค่าขึ้นขานรับรายงานที่ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 102.05 เยน จากระดับของวันพุธที่ 102.31 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9614 ฟรังค์ จากระดับ 0.9656 ฟรังค์

ค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.2908 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.2876 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5307 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5221 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.9837 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9872 ดอลลาร์สหรัฐ

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงหลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยสหรัฐเปิดเผยว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. เพิ่มขึ้น 32,000 ราย สู่ระดับ 360,000 ราย มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 330,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 6 เดือน และสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐได้รับผลกระทบจากมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐโดยอัตโนมัติ (sequestration)

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐ ซึ่งเป็นมาตรวัดภาวะเงินเฟ้อ ลดลง 0.4% ในเดือนเม.ย. มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยับลงเพียง 0.2% และดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% น้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนี CPI ทั่วไปเดือนเม.ย.ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้นั้น มาจากการที่ต้นทุนราคาน้ำมันเบนซินร่วงลง 8.1% ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2551 ด้านตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านใหม่ของสหรัฐอยู่ที่ 853,000 ยูนิตในเดือนเม.ย. ลดลง 16.5% จากเดือนมี.ค. ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 945,000 ยูนิต

ส่วนสกุลเงินเยนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า จีดีพีที่แท้จริงในไตรมาสแรกปีนี้ ขยายตัว 3.5% ต่อปี ทำสถิติขยายตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวเพียง 2.8% ต่อปี เพราะได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคและยอดการส่งออก ซึ่งเพิ่มมุมมองที่เป็นบวกว่า นโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ นำมาใช้นั้น เริ่มส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

นักลงทุนจับตาดูคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด จะเปิดเผยดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐเดือนเม.ย.ในวันนี้เวลา 21.00 น.ตามเวลาไทย โดยนักวิเคราะห์คาดว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนเม.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ