เงินบาทเปิด 29.74/75 คาดแกว่งตัวกรอบแคบ ยังรอปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 17, 2013 09:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 29.74/75 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวในระดับเดียวกับช่วงปิดตลาดเย็นวานนี้
"เงินบาททรงตัว น่าจะแกว่งตัวในกรอบ แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าเนื่องจากดอลลาร์กลับมาแข็งค่า" นักบริหารเงิน กล่าว

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าบาทยังไม่ชัดเจน ตลอดรอดูผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ว่าจะพิจารณาเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นอย่างไร

นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.65-29.85 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.35/37 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 102.63/66 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2867/2869 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.2866/2867 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 29.6850 บาท/ดอลลาร์
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้(16 พ.ค.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. เพิ่มขึ้น 32,000 ราย สู่ระดับ 360,000 ราย มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะเงินเยนแข็งค่าขึ้นขานรับรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ไตรมาสแรกขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 102.05 เยน จากระดับของวันพุธที่ 102.31 เยน และอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 0.9614 ฟรังค์ จากระดับ 0.9656 ฟรังค์ ส่วนค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.2908 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันพุธที่ 1.2876 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินปอนด์พุ่งขึ้นแตะระดับ 1.5307 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5221 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้นแตะระดับ 0.9837 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9872 ดอลลาร์สหรัฐ
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้(16 พ.ค.) ทำสถิติร่วงลงติดต่อกัน 6 วันทำการ เนื่องจากนักลงทุนเทขายสัญญาทองคำหลังจากมีรายงานว่า กองทุน SPDR Gold Trust ซึ่งเป็นกองทุน EFT ด้านทองคำรายใหญ่ของโลก ได้เทขายทองคำออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สัญญาทองคำยังได้รับแรงกดดันจากรายงานของสภาทองคำโลกที่ระบุว่า ความต้องการทองคำทั่วโลกลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ โดยสัญญาทองคำตลาด COMEX(Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน มิ.ย.ร่วงลง 9.3 ดอลลาร์ หรือ 0.67% ปิดที่ 1,386.9 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้(16 พ.ค.) เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐได้จุดประกายให้นักลงทุนมีความคาดหวังว่า ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกอาจจะใช้มาตรการกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 0.91% ปิดที่ 95.16 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์(BRENT) ส่งมอบเดือน มิ.ย.ที่ตลาดลอนดอน เพิ่มขึ้น 12 เซนต์ หรือ 0.11% ปิดที่ 103.8 ดอลลาร์/บาร์เรล
  • ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย เผยดัชนีกิจกรรมการผลิตเขตมิด-แอตแลนติกในเดือน พ.ค.หดตัวลงสู่ระดับ -5.2 จาก 1.3 ในเดือน เม.ย. ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจโดยทั่วไปในภาคการผลิตอ่อนแรงลง ขณะที่ดัชนีย่อยอื่นๆ ก็ปรับตัวลงในเดือนนี้ โดยดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ร่วงลงแตะ -7.9 จาก -1.0 ในเดือน เม.ย. และดัชนีการส่งออกอ่อนดิ่งลงแตะ -8.5 จาก 9.1 ในเดือนที่แล้ว
  • รัฐบาลญี่ปุ่น เผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานภาคเอกชนเดือน มี.ค.ปรับตัวสูงขึ้น 14.2% จากเดือน ก.พ. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
  • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง เปิดเผยในงานเสวนา "บาทแข็ง นโยบายการเงิน การคลังที่ควรจะเป็น" ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค. 2556 หวังว่า กนง.จะยึดหลักดูภาพรวมเศรษฐกิจโดยรวมในการตัดสินใจปรับดอกเบี้ย โดยรอดูตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศในวันที่ 20 พ.ค.นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ