"เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัว 5.3% ชะลอตัวจาก 19.1% ในไตรมาส 4/55 การขยายตัวในด้านการผลิตจากฐานที่ต่ำ มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากสาขาการโรงแรมและภัตตาคาร การก่อสร้าง และอุตสาหกรรม ด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกขยายตัวช้ากว่าคาดการณ์ การขยายตัวของเศรษฐกิจเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4/55 และปรับผลของฤดูกาลออกหดตัว 2.2%"นายอาคม กล่าว
สภาพัฒน์ ระบุว่าในไตรมาส 1/56 การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัว 4.2% เทียบกับการขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 1/55 และ 12.4% ในไตรมาส 4/55 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกเป็นสำคัญ สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง 121.8% ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ ชะลอตัว ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 73.8 เพิ่มขึ้นจากระดับ 69.4 ในไตรมาสก่อน เป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 5 ไตรมาส และเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี
การลงทุนรวม ขยายตัว 6.0% เร่งตัวขึ้นจาก 5.2% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวจาก 22.9% ในไตรมาส 4/55 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% ชะลอตัวลงจาก 20.9% ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้าง ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัว 18.8% ชะลอตัวลงจาก 31.1% ในไตรมาสก่อน โดยในไตรมาสนี้มีการนำเข้าเครื่องบินเพื่อการพาณิชย์ของ บมจ.การบินไทย(THAI) จำนวน 2 ลำ มูลค่า 11,943 ล้านบาท
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 52.2 เพิ่มขึ้นจาก 50.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 275 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3
การส่งออก มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 56,181 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 4.5% เทียบกับการหดตัว 1.4% ในไตรมาส 1/55 และการขยายตัว 18.2% ในไตรมาส 4/55 ซึ่งเป็นการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 8.1% ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัว 3.2% สินค้าส่งออกที่ขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ (16.8%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (13.4%) ผลิตภัณฑ์โลหะ (55.9%) ข้าว (8.6%) และมันสำปะหลัง (34.9%) การส่งออกไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ 2.6% , 8.7% และ 1.5% ตามลำดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน จีน ฮ่องกง และออสเตรเลีย ยังขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ 5.9%, 7.3%, 11.2% และ 33.6% ตามลำดับ
ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวจากฐานที่ต่ำ 4.8% เทียบกับการหดตัวที่ 4.3% ในไตรมาส 1/55 และการขยายตัวที่ 37.0% ในไตรมาส 4/55 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 2.9% ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออก 30-60% ขยายตัวสูง 26.6% ตามการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ ในขณะที่อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่า 30% หดตัว 0.8% ตามการชะลอตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่สินค้าคงทน ส่วนอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่า 60% หดตัว 5.4% สอดคล้องกับการส่งออกที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 66.8%
ภาคเกษตรกรรม ขยายตัว 0.5% ชะลอตัวจาก 3.4% ในไตรมาส 1/55 และ 3.1% ในไตรมาส 4/55 ตามการชะลอตัวของผลผลิตข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเร่งเก็บเกี่ยวไปก่อนหน้า ในขณะที่ผลผลิตยางพารา อ้อย และปศุสัตว์ยังขยายตัวได้ดี ราคาสินค้าเกษตรสำคัญลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมัน และยางพารา เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ปริมาณสินค้าคงคลังสูง และความซบเซาของราคาสินค้าในตลาดโลก ส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลง 2.2%
สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์ดี 14.8% เทียบกับการขยายตัว 5.6% ในไตรมาส 1/55 และชะลอตัวจาก 25.7 ในไตรมาส 4/55 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.8 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 18.9% โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก และยุโรป ที่ขยายตัว 28.5% และ 10.3% ตามลำดับ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 70.5% เทียบกับ 66.4% ในไตรมาสแรกของปีก่อน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ประกอบด้วย จีน รัสเซีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ
สาขาการก่อสร้าง ขยายตัว 10.5% เทียบกับการขยายตัวที่ 0.8% ในไตรมาส 1/55 แต่ชะลอตัวจากร้อยละ 14.1 ในไตรมาส 4/55 ตามการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนที่ขยายตัวสูง 13.4% และ 8.9% ตามลำดับ สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้น 15.1% และ 10.6%
สภาพัฒน์ ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 56 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาวะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก การลงทุนภาคเอกชนที่ยังมีปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินการตามแผนการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลก การแข็งค่าของเงินบาท และการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวในช่วงที่เหลือของปี