ทั้งนี้อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ในช่วงสิ้นปี 55 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 31 บาท/ดอลลาร์ และได้ปรับแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 29 บาท/ดอลลาร์ในปัจจุบันนั้น คาดว่าจะมีผลทำให้รายได้สุทธิจากการส่งออกในปี 56 ลดลงราว 181,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมองว่าเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเติบโตได้ราว 9% และเป้าหมายที่ สศช.คาดไว้ว่าจะเติบโตได้ 11% นั้นอาจจะมีความเป็นไปได้น้อยลง
"ไตรมาสแรกปีนี้ส่งออกเพิ่งโตได้เพียง 4.5% ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้ทั้งปีที่ 9% และของสภาพัฒน์คาดไว้ที่ 11% ซึ่งส่งออกไตรมาสแรกที่โต 4.5% ถือว่าต่ำ ดังนั้นโอกาสที่จะทำให้ได้โตตามเป้าที่ 9% หรือ 11% จึงมีความเป็นไปได้น้อยลง" เลขาธิการ สภาพัฒน์ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทจะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงบ้างในช่วงต้นเดือนพ.ค.56 แต่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินบาทยังคงมีแรงกดดันที่อาจจะแข็งค่าต่อเนื่อง จากการใช้มาตรการขยายปริมาณเงินในญี่ปุ่นและในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ความแตกต่างของผลตอบแทนการลงทุนยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยสภาพัฒน์คาดว่าเงินบาทปี 56 จะอยู่ในช่วง 28.80-29.80 บาท/ดอลลาร์ จากระดับ 31.10 บาท/ดอลลาร์ในปี 55
นายอาคม ยังเชื่อว่าสถานการณ์เงินบาทจะไม่แข็งค่ารุนแรงนักจากปัจจจัยดังต่อไปนี้ 1.การขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ต่ำกว่าคาดการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยและแนวโน้มค่าเงินของนักลงทุน 2.ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อการใช้มาตรการแทรกแซงของภาครัฐ และ 3.แนวโน้มการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนและแข็งแกร่งมากขึ้น