"ไตรมาส 1 ขยายตัว 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดูจะ drop ลง เพราะเทียบกับฐานปีก่อนก็ไม่ได้สูงมากขึ้น ถ้าอยากให้ทั้งปี 56 เศรษฐกิจโตได้ 5% ดังนั้นไตรมาสแรกปีนี้น่าจะโตได้มากกว่านี้ การโตได้ 5.3% ถือว่าต่ำกว่าที่คาดไว้ มีตัวเลขที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคืออุปโภคบริโภค ส่วนการส่งออกและนำเข้ายืนยันว่าไม่เป็นประเด็น"นายประสาร กล่าว
ทั้งนี้ ตัวเลขการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศไตรมาส 1/56 ที่สภาพัฒน์แถลงต่ำกว่าคาดการณ์ของ ธปท.ค่อนข้างมาก โดยตัวเลขของสภาพัฒน์ออกมา 3.9% ขณะที่ ธปท.คาดไว้ 6.1% โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ค่อนข้างต่ำ โดยตัวเลขจริงออกมา 5.2% จากที่ ธปท.คาดไว้ 5.8% โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ตัวเลขที่ออกมา 3.1% ขณะที่ ธปท.คาด 7.3%
"ขณะนี้กำลังให้ทีมงานวิเคราะห์ว่าไส้ในต่ำมาจากอะไร เป็นที่น่าสังเกตเรื่องเชื้อเพลิงที่รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการใช้เบนซิน 91 ตั้งแต่ต้นปี อาจไม่ได้นำมาคำนวณเพราะไม่ได้ขายในท้องตลาด เพื่อรณรงค์ให้คนไปใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นแทน และยังมีประเด็นอื่นๆที่ต้องนำมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจ หรือกระบวนการเติบโตของเศรษฐกิจ... ธปท.ต้องวิเคราะห์ความต่อเนื่องในแต่ละด้านในสถานการณ์จริง ไม่ใช่ดูเฉพาะข้อมูลที่ออกมาไตรมาสละ 1 ครั้ง ซึ่งอาจไม่เห็นความต่อเนื่อง และแนวโน้มในระยะข้างหน้า"นายประสาร กล่าว
นายประสาร กล่าวว่า มีข้อสังเกตว่าการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่ชะลอลง สวนทางกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ แฃะการก่อหนี้ภาคครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีมาตรการภาครัฐที่ให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วันทั่วประเทศเข้ามาอีก แสดงว่าคนน่าจะบริโภคมากขึ้น ตรงจุดนี้ต้องวิเคราะห์ว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ขยายตัวมากในสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ แม้จะเป็นสินทรัพย์แต่ก็ต้องวิเคราะห์อีกเช่นกัน
ขณะนี้สินเชื่อยังขยายตัวค่อนข้างสูง แม้ไม่ได้พุ่งขึ้นมาก แต่ก็ยังเห็นการขยายตัวของสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ถึง 13% เป็นสาเหตุหนึ่งเมื่อรวมกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้วและสินเชื่อยังขยายตัวได้ สะท้อนว่าคนยังใช้จ่ายอยู่
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ธปท.เห็นว่ามูลค่าการส่งออกที่สภาพัฒน์แถลงตัวเลขจริง 8.4% ก็ตรงกับที่ ธปท.คาดการณ์ ขณะที่การนำเข้าสภาพัฒน์แถลงตัวเลขจริง 8.2% ใกล้เคียงกับธปท.คาดการณ์ไว้ 7.8% จึงถือว่าตัวเลขจริงและตัวเลขคาดกาณณ์ในกรณีนี้ไม่มีนัยสำคัญที่เป็นประเด็นต่ออัตราแลกเปลี่ยน
นายประสาร กล่าวว่า ธปท.ต้องนำตัวเลขและข้อมูลไส้ในไปวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ถ้าช่วงไหนแรงส่งเศรษฐกิจผ่อน คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ก็พร้อมใช้นโยบายผ่อนปรน แต่หากเศรษฐกิจโลกยังไม่เรียบร้อย การเติบโตของกลุ่มประเทศยังแตกต่างกัน ก็ถือเป็นการความท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน จึงมีความคิดของหลายฝ่ายที่ต้องการให้ใช้นโยบายดอกเบี้ยในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แต่การดำเนินนโยบายการเงินโดยปกติแล้ว หนึ่งเครื่องมือจะทำหน้าที่ดูแลหนึ่งวัตถุประสงค์ทำให้การทำงานได้ประสิทธิผลอย่างดี แต่ถ้าหนึ่งเครื่องมือต้องดูสองวัตถุประสงค์ โดยเคลื่อนไปในทิศทางที่ต่างกันการใช้ให้เกิดประสิทธิผลก็จะยาก
กนง.ใช้หลักดูว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพหรือไม่ ถ้าไม่เต็มศักยภาพ การดำเนินนโยบายการเงินก็สามรถเข้าไปประคับประคองได้อยู่แล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถพูดได้เฉพาะเจาะจง เพราะเป็นกาไม่สมควรก่อนการประชุม กนง.ซึ่งการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยหากเศรษฐกิจผ่อนแรงส่ง ดอกเบี้ยก็สามารถผ่อนคลายเพื่อหนุนให้แรงส่งเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ
"แบงก์ชาติพยายามดูแลทำให้ดีที่สุด แต่ต้องให้ทุกฝ่ายตระหนักว่าในวันนี้เศรษฐกิจโลกยังไม่ปกติ อัตราแลกเปลี่ยนยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ ตลาดเงินโลกยังอ่อนไหว ต่างฝ่ายต่างก็ต้องช่วยกันดูแล ถ้ามาตรการใดที่ทำได้ ธปท.ก็จะทำอย่างเต็มที่ ซึ่งตลาดเงินที่มีการไหลเข้าและออกในลักษณะสมดุลเป็นวิธีธรรมชาติที่สุด ถ้าต้องการให้ทางการแทรกแซงถ้าจำเป็นก็พร้อม แต่โดยธรรมชาติก็อยากให้เป็นไปตามกลไกตลาด"นายประสาร กล่าว