ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ มองว่าแม้ขณะนี้เงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถวางใจได้ โดยอยากให้จับตาดูภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ต่อไป เพื่อไม่ให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในไตรมาสแรกลุกลามไปยังไตรมาส 2 ขณะเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงการคลัง และหน่วยอื่น เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมไปรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนกลับไปให้ ธปท.ด้วย
"ท่านรองฯ กิตติรัตน์ จะตั้งคำถามถึงมาตรการที่ ธปท.ได้ดำเนินไปเพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาท นั่นคือ ได้นำเงินบาทไปแทรกแซงสถานะการเงินบ้างหรือไม่ ประเด็นนี้ท่านกิตติรัตน์ให้ความสำคัญมาก เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้นจากการใช้เงินบาทเข้าไปแทรกแซงแล้ว อาจจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 40 ก็เป็นได้" รองโฆษกรัฐบาล กล่าว
อย่างไรก็ดี ธปท.เองได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอให้เตรียมแก้ไขข้อกฎหมายเพื่อให้การดำเนินการในมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งใน 4 มาตรการที่ ธปท.ได้เตรียมไว้สำหรับการแก้ปัญหาค่าเงินบาท ซึ่งจะมี 2 มาตรการที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขกฎหมายก่อนจึงจะดำเนินการได้ โดยธปท.ได้ทำหนังสือมาถึงกระทรวงการคลังแล้ว และส่งร่างแก้ไขกฎหมายให้กระทรวงการคลังได้พิจารณา
ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.ว่า แม้ ธปท.จะเสนอร่างกฎหมายเข้ามา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะบังคับใช้กฎหมายในทันที เป็นเพียงการเตรียมความพร้อมไว้สำหรับกรณีที่อาจจะต้องใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวเพื่อประกาศใช้มาตรการ 1 ใน 4 ของธปท.
"ขณะนี้รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และธปท.ได้เตรียมความพร้อมใช้มาตรการสร้างเสถียรภาพให้ค่าเงินบาท ซึ่งรองนายกฯ กิตติรัตน์ เห็นว่าท่าทีของธปท.ที่ออกมาในการเตรียมเครื่องมือให้มีความพร้อมในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจนี้ ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดก็ตาม อย่างน้อยจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าได้ส่งสัญญาณไปถึงนักลงทุนต่างชาติที่หวังจะเข้ามาเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ในระยะสั้นขณะนี้ให้ได้ทราบว่าทุกฝ่ายในประเทศไทยมีท่าทีมีปฏิกิริยา และไม่ต้องการเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นในบ้านเรา"ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าว