(เพิ่มเติม) เงินบาทเปิดตลาด 29.77/79 คาดแกว่งแคบตามภูมิภาค ยังไร้ปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 22, 2013 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 29.77/79 บาท/ดอลลาร์ จากระดับ 29.80 บาท/ดอลลาร์ เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับภูมิภาค โดยมีแนวโน้มอ่อนค่า
"เงินบาททรงตัวใกล้เคียงกับช่วงเย็นวานนี้ วันนี้น่าจะปรับตัวในกรอบแคบๆ ตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค" นักบริหารเงิน กล่าว

นักลงทุนรอผลประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ และรอดูแถลงการณ์จากการประชุม FOMC คืนนี้เกี่ยวกับมาตรการ QE ว่าจะตัดสินใจอย่างไรไปในแนวทางใด เพราะกรรมการแต่ละคนเริ่มมีมุมมองที่แตกต่างกันไป

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.50-30.00 บาท/ดอลลาร์

"ยังเคลื่อนตัวในกรอบใหญ่ที่ exporter พอใจ" นักบริหารเงิน กล่าว

ล่าสุด SPOT อยู่ที่ระดับ 29.8000 บาท/ดอลลาร์ ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ 2.31766%

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.58/60 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 102.70 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2921/2923 ดอลลาร์/ยูโร จากระดับ 1.2869 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ 29.7500 บาท/ดอลลาร์
  • องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ(OECD) เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของกลุ่มประเทศสมาชิกขยายตัว 0.4% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากทรงตัวในไตรมาส 4 ปี 2555 โดย GDP ของญี่ปุ่นและสหรัฐขยายตัว 0.9% และ 0.6% ตามลำดับ ขณะที่ GDP ของอังกฤษและเยอรมนีขยายตัว 0.3% และ 0.1% อย่างไรก็ตาม GDP ของฝรั่งเศสหดตัวเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันที่ระดับติดลบ 0.2% ส่งผลให้เศรษฐกิจฝรั่งเศสซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนอิตาลี GDP ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 7 แต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ช้าลงสู่ระดับติดลบ 0.5% เทียบกับที่หดตัว 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้านี้
  • สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับยูโร ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้(21 พ.ค.) หลังนายเจมส์ บุลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ระบุว่า เฟดควรเดินหน้าใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ต่อไป เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่นักลงทุนจับตาดูนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่จะแถลงมุมมองเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสในคืนนี้ตามเวลาไทย โดยค่าเงินยูโรพุ่งขึ้นแตะระดับ 1.2901 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.2897 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เงินปอนด์ร่วงลงแตะระดับ 1.5152 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.5269 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลงแตะระดับ 0.9803 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.9818 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนที่ระดับ 102.54 เยน จากระดับ 102.27 เยน และขยับขึ้นเมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ระดับ 0.9703 ฟรังค์ จากระดับ 0.9662 ฟรังค์
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น รายงานว่า ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 8.799 แสนล้านเยนในเดือน เม.ย. โดยมีมูลค่าการส่งออกปรับตัวสูงขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนมูลค่าการนำเข้าขยายตัว 9.4%
  • ราคาทองคำตลาดลอนดอนปิดวันทำการล่าสุด(21 พ.ค.) ที่ 1,360.75 ดอลลาร์/ออนซ์
  • นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/56 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)แถลงวานนี้ที่ 5.3% ต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้ที่ 7.1% จึงได้มอบหมายให้ทีมงานของ ธปท.ศึกษารายละเอียดของปัจจัยต่าง ๆ โดยตั้งข้อสังเกตพิเศษว่าการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนผิดไปจากคาดมาก

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น ธปท.เห็นว่ามูลค่าการส่งออกที่สภาพัฒน์แถลงตัวเลขจริง 8.4% ก็ตรงกับที่ ธปท.คาดการณ์ ขณะที่การนำเข้าสภาพัฒน์แถลงตัวเลขจริง 8.2% ใกล้เคียงกับธปท.คาดการณ์ไว้ 7.8% จึงถือว่าตัวเลขจริงและตัวเลขคาดกาณณ์ในกรณีนี้ไม่มีนัยสำคัญที่เป็นประเด็นต่ออัตราแลกเปลี่ยน

  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ชี้แจงกรณีที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ตั้งข้อสงสัยตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สภาพัฒน์ประกาศออกมาต่ำกว่าที่ ธปท.คาดการณ์ไว้มากนั้น โดยยืนยันว่าสภาพัฒน์ไม่มีการแต่งตัวเลขเพื่อเอาใจรัฐบาล และบีบให้ ธปท.ลดดอกเบี้ยนโยบายลง
  • ธนาคารกสิกรไทย คาดว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 พ.ค. จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.75% หลังจาก กนง.ได้คงดอกเบี้ยระดับนี้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2555 เพราะเศรษฐกิจไตรมาสแรกเริ่มแสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไตรมาสแรกเติบโต 5.3% จนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต้องปรับลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลงจาก 4.5-5.5% เหลือ 4.2-5.2%
  • นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ปรับลดเป้าส่งออกปีนี้เหลือ 7-7.5% จากเดิมตั้งเป้าหมายขยายตัวไว้ 8-9% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทผันผวน ทำให้กำหนดราคาแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ลำบาก
  • ผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO Sentiment Index ประจำเดือน เม.ย.-พ.ค.2556 พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและการแข็งค่าของเงินบาท
  • นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) สาขานิวยอร์ก กล่าวที่สมาคมญี่ปุ่นในเมืองแมนแฮตตันว่า นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกในปัจจุบันของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ซึ่งได้ส่งผลให้เงินเยนร่วงลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆนั้น ถือเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพจนถึงขณะนี้

ขณะที่เฟดอาจปรับเพิ่มหรือลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ โดยแนวโน้มตลาดแรงงานและเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีนัยสำคัญ ซึ่งการแสดงความเห็นของนายดัดลีย์มีขึ้นก่อนที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดจะแถลงเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจของสภาคองเกรส ในวันพุธที่ 22 พ.ค.นี้ตามเวลาท้องถิ่น และในวันเดียวกันนั้น เฟดจะเปิดเผยรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดประจำวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. ซึ่งจะตรงกับเวลาเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 23 พ.ค.ตามเวลาไทย

  • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส(WTI) เดือน ก.ค.ร่วงลง 67 เซนต์ แตะที่ 95.51 ดอลลาร์/บาร์เรล ในการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกที่เอเชียในวันนี้ หลังจากการปิโตรเลียมสหรัฐ(API) ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนด้านพลังงานของสหรัฐเปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยสต็อกน้ำมันดิบในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 17 พ.ค.เพิ่มขึ้น 532,000 บาร์เรล สต็อกน้ำมันกลั่นเพิ่มขึ้น 459,000 บาร์เรล และสต็อกน้ำมันเบนซินพุ่งขึ้น 3 ล้านบาร์เรล
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ตัดสินใจคงนโยบายผ่อนคลายการเงินเชิงรุกในปัจจุบันต่อไปเพื่อรับมือกับภาวะเงินฝืด ขณะที่การบริโภคและการส่งออกของประเทศได้เริ่มฟื้นตัว ท่ามกลางเยนที่อ่อนค่าและราคาหุ้นที่พุ่งขึ้น นอกจากนี้บีโอเจยังได้ปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจในประเทศ โดยระบุว่า "เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้เริ่มกระเตื้องขึ้น" หลังจากบีโอเจระบุในการประชุนนโยบายเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ว่า "เศรษฐกิจได้เริ่มส่งสัญญาณบางประการเกี่ยวกับการปรับตัวดีขึ้น"
  • นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556(ต.ค.55-เม.ย.56) พบว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,103,284 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 154,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.3 โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงเศรษฐกิจภายในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่องและผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,551,941 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 125,053 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 448,657 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 123,487 ล้านบาท (สาเหตุหลักจากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง 102,135 ล้านบาท) ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 572,145 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ