ทั้งนี้ ผลการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวจะทำให้ทราบข้อมูลในทุกมิติ ทั้งช่วงฤดูการผลิต ปริมาณผลผลิตรายปี ต้นทุนการผลิต จำนวนเกษตรกร พื้นที่ที่มีการผลิตมาก ปริมาณความต้องการในประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการวางแผนการผลิตให้มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยจะนำมาเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดและจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนแผนการผลิตสินค้าเกษตรตามเขตเกษตรเศรษฐกิจ(โซนนิ่ง) ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐทั้งในระดับภาพรวมและระดับพื้นที่ ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปของผลการศึกษาภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการเขตเกษตรเศรษฐกิจและคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์เพื่อพิจารณาในลำดับต่อไป
นายชวลิต กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงมีข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตรในเรื่องของต้นทุนการผลิต พื้นที่ปลูกหรือช่วงฤดูการผลิต แต่ไม่มีข้อมูลต้นทุนการผลิตเป็นรายแปลงหรือรายครัวเรือน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกของการผลิตสินค้าเกษตรเป็นรายแปลง เมื่อเกษตรกรต้องการเพาะปลูกหรือผลิตสินค้าเกษตรชนิดใดข้อมูลจากคณะอนุกรรมการฯ 11 คณะจะสามารถสนับสนุนความต้องการทำการเกษตรของเกษตรกรได้อย่างชัดเจนว่าพืชชนิดใดควรปลูกหรือไม่ หรือตลาดต้องการสินค้าเกษตรประเภทใด ควรเพิ่มหรือลดการผลิตอย่างไร ซึ่งเมื่อมีข้อมูลรายแปลงหรือครัวเรือนที่ชัดเจนแล้ว จะสามารถวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้มากขึ้น
"สิ่งสำคัญที่คณะอนุกรรมการฯ จะต้องเร่งดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ คือการทราบต้นทุนที่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่มากที่สุด ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์และทำให้ทราบว่าคุ้มหรือไม่คุ้มที่เกษตรกรจะปลูกพืชใดชนิดหนึ่ง หรือทำการเกษตรประเภทใดที่เหมาะสมกับพื้นที่และภูมิภาค ขณะเดียวกันก็เป็นการผลิตสินค้าเกษตรที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศด้วย ทำให้การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนและต่อเนื่อง" นายชวลิต กล่าว