นายกฯเชิญชวนเอกชนญี่ปุ่นร่วมในโครงการน้ำ3.5แสนลบ.-โครงการ2 ลลบ.-ทวาย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2013 10:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานพบปะนักลงทุน (Roadshow) ในหัวข้อ “Building a Strong Foundation for Thailand and ASEAN" เมื่อวันที่ 22 พ.ค.56 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นว่า ไทยและญี่ปุ่นมีความร่วมมือโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการลงทุนในไทยเป็นอันดับหนึ่งกว่า 1.3 ล้านล้านเยน และการค้าระหว่างไทยและญี่ปุนมีมูลค่ากว่า 7.5 ล้านล้านเยนในปีที่แล้ว

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกของไทย (Eastern Seaboard) ให้เป็นชุมชนที่มีนิคมอุตสาหกรรม โรงงาน ท่าเรือน้ำลึก และโครงข่ายพื้นฐานที่พรั่งพร้อม ด้วยเหตุนี้ จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการสำคัญในอนาคต ได้แก่ โครงการลงทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในวงเงิน 350,000 ล้านบาท แผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวาย

ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “The Roadmap to Real Opportunities for Thailand and ASEAN" โดยชี้ให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 56 อยู่ที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ นโยบายภาครัฐ เช่น การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายรถคันแรก นโยบายจำนำข้าว ได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ

พร้อมทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและโครงการทวาย โดยจากภูมิศาสตร์ของไทยที่อยู่บริเวณศูนย์กลางของอาเซียน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมและการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะทำให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58

ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ได้บรรยายในหัวข้อ “Thailand’s Infrastructure Investment" โดยกล่าวว่า การเชื่อมโยงระบบโลจิสติกสจะช่วยให้ไทยและอาเซียนได้รับประโยชนจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแทจริงในปัจจุบัน ประเทศไทยยังพึ่งพาการขนส่งทางถนนที่สูงกว่า 86% ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งทำให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 15.2 ของจีดีพี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ทั้งรถไฟรางคู่(Double Track) รถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) และการขนส่งมวลชน (Mass Transit) จะชวยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และลดการนำเข้าพลังงานเพื่อการขนส่งอันจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยคาดว่าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศลดลงจากปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2.0%

ส่วนนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้บรรยายในหัวข้อ “Dawei Project, the New Asian Gateway" โดยกล่าวถึงความสำคัญของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในฐานะจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาความเชื่อมโยงฐานการผลิตภายในภูมิภาคอาเซียนและการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในการขนส่งสินค้า รวมทั้งหยิบยกกรณีศึกษาการพัฒนาเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย และเชิญชวนให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นเข้าร่วมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายร่วมกับไทยผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership)

สรุปภาพรวมการพบปะนักลงทุนในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก สะท้อนจากความสนใจจำนวนมากของภาคเอกชนญี่ปุ่นจำนวนมากที่เข้าร่วมงานและจากคำถามต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนญี่ปุ่นในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท และโครงการทวายซึ่งฝ่ายไทยได้ชี้แจงให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ