(เพิ่มเติม) พาณิชย์เผยส่งออก เม.ย.โต 10.52% นำเข้าโต 8.91% ขาดดุล 2.8 พันล้านดอลล์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 23, 2013 13:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือน เม.ย.56 ว่า การส่งออกขยายตัว 10.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 18,698.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 8.91% คิดเป็นมูลค่า 21,550.6 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 2,851.72.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ส่งผลให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-เม.ย.56) การส่งออกยังขยายตัว 5.74% คิดเป็นมูลค่า 75,665.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 8.56% คิดเป็นมูลค่า 86,428.2 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ขาดดุลการค้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 10,762.7 ล้านดอลลาร์

สำหรับภาพรวมการส่งออกหมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรลดลง 4.4% ได้แก่ ข้าว(-8.4%) ยางพารา(-8.1%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง(-14.2%) กุ้งแช่แข็งและแปรรูป(-30.8%) น้ำตาล(-24%) ส่วนสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง)(+11.6%) ผักและผลไม้(+0.1%) ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป(+10.2%)

ขณะที่ภาพรวมหมวดสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้น 19.3% ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์(+45.2%) เครื่องใช้ไฟฟ้า(+4.3%) ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ(+19.1%) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก(+8.5%) สิ่งทอ(+7.9%) วัสดุก่อสร้าง(+15.8%) อัญมณีและเครื่องประดับ(+4.4%) ผลิตภัณฑ์ยาง(+9.6%) สิ่งพิมพ์กระดาษและบรรจุภัณฑ์(+13.9%) เครื่องเดินทาง เครื่องหนังและรองเท้า(+3.2%) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(+17.1%) เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์(+2%) เครื่องใช้และเครื่องประดับตกแต่งบ้าน(+14.4%) อาหารสัตว์เลี้ยง(+15.2%) สวนภาพรวมหมวดสินค้าอื่นๆ ลดลง 2.5%

ส่วนภาพรวมการนำเข้าในเดือน เม.ย.56 เพิ่มขึ้นทุกหมวด โดยหมวดเชื้อเพลิง(+12.2%) ได้แก่ น้ำมันดิบ(+7%) น้ำมันสำเร็จรูป(-25.3%) ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม(+104.1%), หมวดสินค้าทุน(+2.3%) ได้แก่ เครื่องจักรกล (-9.5%) เครื่องจักรไฟฟ้า(-9.4%) เครื่องคอมพิวเตอร์(-11.8%) เครื่องบิน เครื่องร่อน และอุปกรณ์(+1462.7%), หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป(+10.9%) ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ (+8.1%) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่ง และทองคำ (+36.4%) เคมีภัณฑ์ (+6%) ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (+3.1%),

หมวดอุปโภค/บริโภค (+14%) ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (+7.9%) ผลิตภัณฑ์เวชกรรม (+21%) เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (+19.2%) ผัก ผลไม้และของปรุงแต่ง (+19.3%), หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+10%) ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ (+18.9%) รถยนต์นั่ง(-27.7%) ส่วนประกอบและอุปกรณ์รถจักรยานยนต์และรถจักรยาน (+20.2%) และ หมวดอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ (+35%)

ภาพรวมตลาดหลักเพิ่มขึ้น 4.1% ได้แก่ ญี่ปุ่น(+1.9%) สหรัฐอเมริกา(+3.9%) สหภาพยุโรปสมาชิกเดิม 15 ประเทศ(+6.8%) ภาพรวมตลาดศักยภาพสูงเพิ่มขึ้น 8.4% ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ (+5.2%) ซึ่งอาเซียนเดิม 5 ประเทศ (+3.7%) อินโดจีนและพม่า (+8.5%) ส่วนจีน(+3.7%) เอเชียใต้ 8 ประเทศ (+1.7%) ฮ่องกง(+45.2%) ส่วนตลาดที่ลดลง ได้แก่ เกาหลีใต้(-1.1%) ไต้หวัน(-1.4%)

ส่วนภาพรวมตลาดศักยภาพระดับรองเพิ่มขึ้น 10.1% ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย(+28.9%) ตะวันออกกลาง(+5%) ทวีปแอฟริกา(+7.4%) ลาตินอเมริกา(+5.1%) รัสเซียและCIS(+5.7%) แคนาดา(+2.7%) ขณะที่สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 12 ประเทศ (-6.5%) ขณะที่ภาพรวมตลาดอื่นๆ ลดลง 59.4% โดยสวิตเซอร์แลนด์(-77.2%)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ