“สหภาพยุโรปหรืออียู เป็นตลาดน้ำตาลขนาดใหญ่ ที่มีระบบบริหารจัดการอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ซับซ้อนเนื่องจากมีสมาชิกรวม 27 ประเทศ สามารถผลิตน้ำตาลได้ 18.1 ล้านตัน บริโภค 19.2 ล้านตัน และมีการนำเข้าน้ำตาลทราย 4.7 ล้านตันต่อปี จึงเป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมน้ำตาลทรายจะส่งออกน้ำตาลทรายไปยังตลาดอียู เพื่อรองรับความต้องการบริโภคของประชากรชาวยุโรปได้"นายเชิดพงษ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของอียู เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี โปแลนด์และสหราชอาณาจักร ได้ให้สิทธิพิเศษนำเข้าน้ำตาลทรายกับประเทศอดีตอาณานิคม หรือ African Caribbean and Pacific Group of States-ACP ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Economic Partnership Agreements หรือ EPAs กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries-LDCs) และกลุ่มประเทศ CXL หรือ ออสเตรเลีย บราซิลและคิวบา ดังนั้น การเจรจาการค้าเสรีไทย-อียู ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเปิดตลาดสำหรับน้ำตาลทรายไทยเพื่อส่งออกไปยังสหภาพยุโรป
ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ จึงได้จัดทำหนังสือเพื่อเสนอให้แก่ผู้แทนการค้าไทยผลักดันให้มีการเปิดเสรีการค้าสำหรับสินค้าน้ำตาลทราย โดยผลักดันให้อียู บรรจุสินค้าน้ำตาลทรายไว้ในรอบเจรจาเปิดตลาดสินค้ากลุ่ม Early Harvest โดยให้ลดภาษีเหลือ 0% ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทยสามารถส่งออกน้ำตาลทรายไปยังต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น และเป็นผลให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย