การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถช่วยลดต้นทุนในรูปของการชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรผู้ใช้บัตรเป็นระยะเวลา 4 เดือน คิดเป็นมูลค่าที่เกษตรกรจะได้รับประโยชน์ร้อยละ 2.33 ของมูลค่าปุ๋ย หรือประมาณ 350 บาทต่อตัน
ทั้งนี้โครงการจัดหาปุ๋ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมีเป้าหมายดำเนินการผ่านสกต.ทั้ง 77 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยในปี 2556 จะจัดหาปุ๋ยเคมีตราลูกโลกเกลียวเชือกและตราบริษัท ประเภทปุ๋ยผสม(Compound Fertilizer)เพื่อใช้กับทุกพืชและปุ๋ยเคมีผสมแบบคลุกเคล้า (Bulk Blending) เฉพาะที่ใช้กับยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสับปะรด ตามความต้องการของเกษตรกร จำนวน 400,000 ตัน และจะเพิ่มเป็น 1 ล้านตัน ภายใน 5 ปี หรือประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณปุ๋ยทั้งหมดที่ใช้ในประเทศประมาณ 5 ล้านตัน ซึ่งเกษตรกรสามารถสั่งซื้อปุ๋ยและชำระค่าปุ๋ยโดยใช้บัตรสินเชื่อเกษตรกรได้ที่ สกต. หรือตัวแทนของ สกต. ทุกจังหวัด รวมทั้งร้านค้าเครือข่ายชุมชนที่เข้ามาร่วมโครางการ
นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า ธนาคารได้ลงนามความร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตรในการดูแลคุณภาพปุ๋ยและการพัฒนาร้านค้าในโครงการบัตรสินเชื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานQ-Shop พร้อมทั้งมีการตรวจสอบคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เกษตรกรจึงมั่นใจได้ว่าจะได้ใช้ปุ๋ยที่มีคุณภาพในราคายุติธรรมหรือเทียบเท่าราคาตลาดทั้งยังได้รับความสะดวกในการรับปุ๋ยที่สั่งซื้อเนื่องจาก สกต.จะขนส่งปุ๋ยจากผู้ผลิตถึงชุมชนโดยตรงและเกษตรกรยังได้รับการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้จากบัตรสินเชื่อเป็นระยะเวลา 4 เดือน รวมเวลาปลอดดอกเบี้ยบัตร อีก 1 เดือน รวมเป็น 5 เดือน นอกจากนี้ในส่วนของชุมชนจะพัฒนาเป็นจุดรวบรวม รับ-จ่ายปัจจัยการผลิตผ่านระบบบัตร และพัฒนาเป็นร้านค้าเครือข่ายของ สกต. สหกรณ์การเกษตร ที่เข้าร่วมโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรอันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนในอนาคต