กกพ.เตรียมประกาศเกณฑ์ให้อำนาจสั่งการศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าใน 2 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับ 3 การไฟฟ้า ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติในศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า ป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างหลังเกิดกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 พ.ค.นั้น กกพ.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมากำหนดหลักเกณฑ์อำนาจการสั่งการในศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า โดยจะกำหนดมาตรการป้องกันหากเกิดกรณีไฟฟ้าดับว่าจะกู้ระบบอย่างรวดเร็วอย่างไร รวมถึงอำนาจในการสั่งดับไฟในบางพื้นที่ แทนที่จะเกิดไฟดับเป็นวงกว้าง ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ การกำหนดระเบียบดังกล่าวจะเป็นไปตามกฎหมาย กกพ.มาตรา 11(3) ที่ให้อำนาจ กกพ.กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ในขณะที่ปัจจุบัน 3 การไฟฟ้า มีระเบียบควบคุมศูนย์สั่งจ่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นข้อปฏิบัติระหว่างกันอยู่แล้ว และมาตรา 87 ของ กกพ.ยังกำหนดว่าผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงานมีหน้าที่ควบคุมบริหารและกำกับดูแลให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ โดยกรณีนี้ กฟผ.น่าจะมีอำนาจในการควบคุมการสั่งจ่ายหรือดับไฟฟ้าเป็นบางพื้นที่ได้

ด้านนายนภดล มัณฑะจิตร กรรมการ กกพ. กล่าวว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจจะต้องใช้เวลาในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วภายใน 7 วินาที แต่ในกรณีนี้ผู้ปฎิบัติงานมีความกังวลว่าหากสั่งดับไฟในบางพื้นที่ และเกิดความเสียหายขึ้นมาภายหลัง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น กกพ.จึงต้องออกระเบียบเพิ่มเติมในกรณีการให้อำนาจสั่งการ

นางพัลภา เรืองรอง กรรมการ กกพ. กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นน่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะมีฟ้าผ่าลงสายส่งแรงสูง 500 กิโลโวลต์ โดย กฟผ.ได้แก้ปัญหาโดยการสั่งซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซีย แต่ก็เกิดปัญหาระบบสายส่งไฟฟ้าของมาเลเซียขัดข้อง อย่างไรก็ตามต้องไปดูในเชิงลึกว่าความบกพร่องเกิดจาก กฟผ.ที่ไม่ดูแลสายล่อฟ้าบนสายส่ง 500 กิโลโวลต์ จนทำให้ไฟฟ้าลัดวงจรหรือไม่ หากพบว่าเป็นความบกพร่องของ กฟผ.จริง กกพ.ก็จะเรียกค่าปรับจาก กฟผ.มาชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

สำหรับแผนระยะสั้นนั้น กกพ.จะร่างระเบียบเพื่อเปิดรับสมัครประชาชนและผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการงดจ่ายไฟในภาวะฉุกเฉิน หรือ Critical Peak Pricing และเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน ทั้ง SPP และ VSPP ในราคาพิเศษ โดยจะมีการกำหนดผลตอบแทน เพื่อจูงใจให้เกิดการหยุดใช้และผลิตไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงฉุกเฉิน ซึ่งจะเป็นลักษณะเดียวกันกับช่วงที่พม่าหยุดส่งก๊าซฯ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ในวันที่เกิดเหตุพบว่ามีไฟฟ้าขาดหายไปจากระบบเพียง 400 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งหากสามารถนำระบบที่ให้ประชาชนและผู้ประกอบการสมัครใจลดการใช้ไฟในช่วงที่มีความต้องการสูงสุดได้ ก็จะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัด ทั้งนี้ กกพ.จะเร่งสำรวจจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวโดยเร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ