(เพิ่มเติม) รมว.คลัง หวัง กนง.ลดดอกเบี้ยสูงกว่า 0.25% แสดงความใส่ใจปัญหาบาทแข็งค่า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 15:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง หวังว่าจะเห็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่จะประชุมกันในวันที่ 29 พ.ค.นี้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยงบายลงมากกว่า 0.25% จากระดับปัจจุบันที่ 2.75%

"ถ้าลดแค่ 0.25 หรือไม่ลดเลย ผมว่า กนง.ต้องเป็นภาวะไม่รู้ร้อนรู้หนาว เพราะถ้ารู้ร้อนรู้หนาว คงจะลดมากกว่านั้น ผมว่าถ้าลดแค่ 0.50% ก็ยังเป็นภาวะไม่รู้ร้อนรู้หนาว"รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหากสุดท้ายแล้วที่ประชุม กนง.ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพียง 0.25% รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น นายกิตติรัตน์ ตอบเพียงสั้นๆ ว่า "จะซื้อเสื้อกันหนาวเป็นของขวัญ"

อย่างไรก็ดี นายกิตติรัตน์ ไม่ได้แสดงความเห็นว่า กนง.ควรจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไป 1% ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เคยให้ความเห็นไว้ก่อนหน้านี้ โดยกล่าวเพียงว่า คงไม่กล้าไปเข้าข้างสภาพัฒน์

นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจในวันนี้ว่า เป็นการหารือตามปกติเพื่อรายงานภาวะเศรษฐกิจ ส่วนกรณีที่ ธปท.และสภาพัฒน์ ออกมาตอบโต้กันในเรื่องตัวเลข GDP ไตรมาส 1/56 ที่ขยายตัวเพียง 5.3% มองว่าหน่วยงานราชการด้วยกันไม่ควรออกมาตอบโต้กันเอง เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติกัน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันพรุ่งนี้จะเชิญกระทรวงการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สภาพัฒน์ และ ธปท.เข้ามารายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจเพื่อให้ ครม.รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน

"ตัวเลข 5.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นทางการ ทางสภาพัฒน์ฯ ได้ส่งข้อมูลมาที่นายกรัฐมนตรีและผม แต่ที่ทราบข่าวทางแบงก์ชาติตั้งข้อสังเกต ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าเป็นเรื่องทำให้เป็นประเด็น สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานมาตรฐานมีหน้าที่รวบรวมภาวะเศรษฐกิจ การเป็นส่วนราชการด้วยกันแต่ตั้งข้อสงสัยกันแบบนี้ ถือว่าไม่ค่อยให้เกียรติส่วนราชการสำคัญ"นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของชาติไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะจะทำให้เกิดผลเสียหายต่อเศรษฐกิจได้ โดยขณะนี้เสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยถือว่าขยายตัวได้ดีขึ้นตั้งแต่ปี 55 และในปี 56 มีโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ และในปี 57 รัฐบาลเตรียมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดูแลโดยเฉพาะเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ส่งออก และเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเดินหน้าต่อได้ เพราะผู้ส่งออกถือว่าเป็นผู้เลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

อย่างไรก็ดี แม้เงินบาทในขณะนี้เริ่มอ่อนค่าลงบ้างแล้วนั้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องดูว่าจะเพียงพอต่อภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้หรือไม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะต้องฟังจากผู้ส่งออกโดยตรง และต้องยอมรับว่าผู้ส่งออกบางรายได้รับผลกระทบแต่ไม่กล้าบอกข้อมูลให้กับรัฐบาล เพราะไม่อยากให้มองว่าเป็นการกดดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องติดตามว่าผู้ส่งออกจะสามารถดำเนินธุรกิจต่อได้หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ