ทั้งนี้ มีความเป็นห่วงว่าแม้ที่ประชุม กนง.จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา แต่ก็อาจจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ โดยเฉพาะในส่วนของภาคการลงทุนและการส่งออกที่เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจที่อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ หากธนาคารพาณิชย์ที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชนไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย
นายมนตรี กล่าวว่า หลายครั้งที่ผ่านมาจะพบว่า ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. ธนาคารพาณิชย์มักจะปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลงมาในอัตราเท่ากับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ฝั่งดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้กลับปรับลดลงมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งทำให้ภาระต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนไม่ได้ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น
"การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ไม่ว่าจะเป็น 0.25% หรือ 0.50% จะไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่การค้าการลงทุนของภาคเอกชน ไม่ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมาเท่ากับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยมุ่งหวังแต่ผลกำไรของธนาคารมากกว่า ทำให้ภาคเอกชนไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างที่ควรจะเป็น" นายมนตรี กล่าว
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ ธปท.ต้องทำหน้าที่กำกับดูแลสถาบันการเงินในประเด็นดังกล่าว โดยดูแลให้ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเงินกู้และเงินฝาก(สเปรด) ของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเอื้อต่อการให้ภาคเอกชนลงทุน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้