อุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาขายส่งเฉลี่ยของพืชผักทั้ง 18 ชนิด ลดลง 5.2% ในสัปดาห์ที่แล้ว และปรับตัวลงรวมทั้งสิ้น 21.9% ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาเนื้อสุกร ซึ่งเป็นอาหารหลักของจีน ขยับขึ้น 1.1% เทียบรายสัปดาห์ หลังจากร่วงลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
ราคาอาหารคิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ใช้คำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญของจีน โดยในเดือนเม.ย. ดัชนี CPI ของจีนขยายตัว 2.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้นจาก 2.1% ในเดือนมี.ค.
-- สำนักงานธัญพืชแห่งรัฐของจีน (SAG) ระบุว่า จีนวางแผนรับซื้อเรพซีดเข้าคลังสำรองปริมาณ 5 ตันในปีนี้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรและเพื่อสร้างเสถียรภาพแก่ราคาน้ำมันบริโภค โดยราคารับซื้อเรพซีดขั้นต่ำจะอยู่ที่ 5,100 หยวน/ตัน ซึ่งสูงกว่าราคาในปีที่แล้วอยู่ 100 หยวน/ตัน และยังสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดอย่างมาก
แม้ว่าในปัจจุบันเกษตรกรจำหน่ายน้ำมันเรพซีดในราคาประมาณ 10,400 หยวน/ตัน แต่ตลาดส่วนใหญ่เชื่อว่าโรงงานแปรรูปน้ำมันมีศักยภาพที่จะรับซื้อรพซีดที่ราคา 4,800-5,000 หยวน/ตันเท่านั้น
-- หนังสือพิมพ์ไชน่า ซิเคียวริตีส์ เจอร์นัลของจีน รายงานผลสำรวจซึ่งจัดทำโดยตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ต้าเหลียนว่า การปลูกข้าวโพดทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีนซึ่งเปรียบเสมือนยุ้งฉางของประเทศและเป็นฐานผลิตถั่วเหลืองและข้าวโพดที่ใหญ่ที่สุดของจีนนั้น ได้ประสบปัญหาความล่าช้า เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เกษตรกรบางรายต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดไปปลูกถั่วเหลืองแทน
ทั้งนี้ มณฑลเฮยหลงเจียง ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ถือเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณ 40% ของผลผลิตถั่วเหลืองทั้งหมดในประเทศ และคาดว่ามณฑลจะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองในปีนี้ เนื่องจากการปลูกข้าวโพดที่ล่าช้าในภูมิภาคส่วนใหญ่ สำนักข่าวซินหัวรายงาน