“ยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ชะลอลงมากกว่าที่ ธปท.คาดไว้ แต่จำเป็นต้องต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายเข้าไปดูแลเศรษฐกิจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของกนง. ซึ่งส่วนตัวมองว่าการชะลอตัวนั้นถือว่าไม่แตกต่างจากเศรษฐกิจประเทศอื่นที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นการชะลอตัวทั้งด้านบริโภคและการลงทุน ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ ดังนั้นจึงต้องมาพิจารณาว่าการชะลอตัวมาจากสาเหตุใด และจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 2 หรือไม่ ต้องติดตามว่าปัจจัยสนับสนุน อาทิ การลงทุนภาครัฐจะกระตุ้นให้เอกชนลงทุนตามได้ทันเวลาหรือไม่ หากการลงทุนเริ่มขึ้นและทันเวลา อัตราการขยายตัวน่าจะเติบโตได้ตามทิศทางที่ตั้งเป้าหมายไว้"นางผ่องเพ็ญ กล่าว
ส่วนการดูแลค่าเงินบาทนั้น ถ้าเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานแข็งแรง อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นบ้างก็ถือเป็นเรื่องเหมาะสม หากเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ก็ต้องเข้าไปดูแลให้ภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ ทั้งนี้หากเอาไม่อยู่ก็ต้องมีมาตรการที่แรงขึ้น แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก เพราะมาตรการต่างๆ ย่อมมีทั้งประโยชน์และโทษ จึงต้องนำมาใช้ในจังหวะเวลาและขนาดที่เหมาะสม ซึ่ง ธปท.ก็พยายามดูแลอยู่
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลัง และธปท.ล้วนมีความกังวลและตระหนักดีถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ดังนั้น แต่ละฝ่ายต่างก็ต้องทำหน้าที่ และดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากจำเป็น ธปท.ก็ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวได้ ถ้าไม่แทรกแซงเงินบาทก็จะแข็งค่ามากเกินไปเหมือนในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และหากสถานการณ์จำเป็นก็จะใช้มาตรการที่เตรียมไว้ แต่จะใช้ไม่นาน ส่วนจะเป็น 4 มาตรการตามที่เป็นข่าวออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ คงไม่สามารถตอบได้
นอกจากนี้ ธปท.ยังผ่อนคลายเกณฑ์ให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง แต่เงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ไทยประมาณ 12-13% คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย ที่มีสัดส่วนต่างชาติลงทุนในตราสารหนี้ถึง 30-40%
"ธปท.ยังรักษาความน่าเชื่อถือในการดูแลเศรษฐกิจมหภาค และยังยึดมั่นในหลักการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยยืนยัน ธปท.มีเครื่องมือสำหรับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถที่จะปรับตัวได้"นางผ่องเพ็ญ กล่าว