วันนี้เงินบาทปิดตลาดอ่อนค่าลงไปแตะระดับ 30 บาท หลังจากช่วงบ่ายมีข่าวนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมาระบุว่าจะแก้ประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีผลในการดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกให้มีความสมดุล อันถือเป็นการเตรียมความพร้อม หากหน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที
"วันนี้เหตุที่บาทลงไปแตะ 30 บาท น่าจะเป็นเพราะหลังจากมีข่าวที่รมว.คลัง บอกว่าจะแก้กฎกระทรวงเพื่อเตรียมประกาศใช้ดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออก และอีกส่วนหนึ่งเป็นความกังวลว่าพรุ่งนี้ กนง.จะลดดอกเบี้ย" นักบริหารเงิน ระบุ
นักบริหารเงิน ให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ไว้ที่ 29.85-30.10 บาท/ดอลลาร์
*ปัจจัยสำคัญ
- ปิดตลาดเย็นนี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 102.08 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.2925 ดอลลาร์/ยูโร
- SET ปิดช่วงบ่ายที่ระดับ 1,619.57 จุด เพิ่มขึ้น 26.47 จุด(+1.66%) มูลค่าการซื้อขาย 51,250.72 ล้านบาท
- สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติขายสุทธิ 2,749.35 ลบ.(SET+MAI)
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ เห็นชอบกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556 เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพและขยายตัวได้อย่างน้อย 5% และเพื่อบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ออกมาระบุว่าจะแก้ประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งจะมีผลในการดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกให้มีความสมดุล อันถือเป็นการเตรียมความพร้อม หากหน่วยงานที่รับผิดชอบเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดูแลเงินทุนไหลเข้า-ออกก็จะสามารถดำเนินการได้ทันที
- ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท.ระบุว่า บางประเทศที่มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นตัวนำมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนั้น ทำให้ควบคุมได้ยาก และเห็นว่าแนวคิดแบบนี้จะมีความโปร่งใสน้อยกว่าการใช้นโยบายการดูแลที่ให้อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวนำ
พร้อมให้พิจารณาข้อมูลย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 52 จนถึงปัจจุบัน จะพบว่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 52-53 แม้เงินบาทจะแข็งค่าขึ้น แต่มูลค่าการส่งออกของไทยยังสามารถเติบโตได้สูงถึงปีละกว่า 20%
- นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และธปท.ล้วนมีความกังวลและตระหนักดีถึงปัญหาเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป ดังนั้น แต่ละฝ่ายต่างก็ต้องทำหน้าที่ และดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากจำเป็น ธปท.ก็ต้องเข้าแทรกแซงเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีปรับตัวได้ ถ้าไม่แทรกแซงเงินบาทก็จะแข็งค่ามากเกินไปเหมือนในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และหากสถานการณ์จำเป็นก็จะใช้มาตรการที่เตรียมไว้
- นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า ทิศทางเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงที่เหลือปีนี้ เนื่องจากคาดว่าหลายประเทศยักษ์ใหญ่ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปน่าจะยังดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป
- นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันพรุ่งนี้ควรจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% หากไม่สามารถลดได้ถึง 1% ตามที่ภาคเอกชนเสนอ เพราะมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลดีทำให้ค่าเงินบาทมีสถียรภาพ
- นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แสดงความเป็นห่วงว่า แม้ กนง. จะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมา แต่ก็อาจจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ทุกฝ่ายตั้งความหวังไว้ โดยเฉพาะในส่วนของภาคการลงทุนและการส่งออกที่เป็นฟันเฟืองของเศรษฐกิจที่อาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้เต็มที่ หากธนาคารพาณิชย์ที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคเอกชนไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย
- ตลาดหุ้นยุโรปเปิดตลาดวันนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ตามเวลาไทย โดยดัชนี Stoxx Europe 600 เพิ่มขึ้น 0.8% แตะ 306.62 จุด เมื่อเวลา 8.08 น.ตามเวลาลอนดอน
- คืนนี้ สหรัฐฯจะเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และดัชนีราคาบ้าน ซึ่งคาดกันว่าราคาบ้านใน 20 เมืองของสหรัฐจะดีดตัวขึ้นมากที่สุดในรอบหลายปี
- สมาคมแลกเปลี่ยนทองคำและเงินของจีน เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่ตลาดฮ่องกงลดลง 90 ดอลลาร์ฮ่องกง ปิดที่ระดับ 12,890 ดอลลาร์ฮ่องกง/ตำลึงในวันนี้ โดยราคาดังกล่าวเทียบเท่ากับ 1,394.34 ดอลลาร์สหรัฐ/ทรอยออนซ์ ลดลง 9.74 ดอลลาร์สหรัฐ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ/ 7.76 ดอลลาร์ฮ่องกงในวันนี้
- คณะกรรมการกำหนดโนบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ) ยืนยันว่าบีโอเจจะไม่ดำเนินมาตรการทางการเงิน"ที่แข็งกร้าว"ในการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% อย่างแน่นอน เนื่องจากเป้าหมายดังกล่าวควรใช้ควบคู่ไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ