บลจ.กรุงศรี ประเมินว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 28-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แต่ระดับค่าเงินบาทที่ทั้งภาครัฐและเอกชนจะสบายใจมากที่สุดคือ 30 บาท/ดอลลาร์ บวก/ลบไม่เกิน 1 บาท แม้ว่าปัจจุบันแม้ว่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งในระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะเข็งค่ามากขึ้นอีก
นายประภาส กล่าวในการเสวนาหัวข้อ"ผลกระทบค่าเงินบาทต่อทางเลือกในการลงทุน"ว่า ผู้ติดตามความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนอาจจะยังสับสนกับความผันผวนที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะมาจากปัจจัยตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เช่น จีนที่ขณะนี้เห็นการชะลอตัวลง โดยสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเงินบาทยังไม่ถึงจุดเปลี่ยนจากแนวโน้มแข็งค่ามาเป็นอ่อนค่าลงจนกว่าตัวเลขการส่งออกของไทยจะเริ่มมีปัญหาจนประเทศไทยขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องไประยะหนี่งจนตลาดเชื่อว่าไทยขาดศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าทางการและผู้ประกอบการคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเพราะจะมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ในระบบเศรษฐกิจมาก ดังจะเห็นได้ว่าขณะนี้ภาครัฐได้ส่งสัญญาณเตือนไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ให้ช่วยกันบริหารเศรษฐกิจ
ขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากนัก แต่นับจากนี้ไปอาจจะได้รับผลกระทบทางจิตวิทยาจากมาตรการต่าง ๆที่มีข่าวว่าทางการจะนำออกมาใช้มากกว่า
นายธิติ ตันติกุลกุลานันท์ ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวว่า เงินบาทจะยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจากผลของมาตรการ QE ของญี่ปุ่นและสหรัฐ แต่จากปัจจัยที่เริ่มมีข่าวว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI ของจีนเริ่มมีปัญหา ก็อาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเล็กๆ อย่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ชะลอตัวลงตาม แต่คงต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจของจีนว่าแย่ลงจริงหรือไม่ หากแย่จริงก็อาจจะได้เห็นเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง
จนถึงปัจจุบันเงินบาทยังคงยากที่จะคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมาก แม้ปัจจัยภายในจะสำคัญแต่ถูกครอบงำโดยปัจจัยภายนอกด้วย โดยเฉพาะมาตรการ QE ของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ไม่เคยอยู่ในตำราเรียนมาก่อนเลย ซี่งส่งผลให้มีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยแล้วถึง 800,000 ล้านบาทนับเป็นปริมาณที่สูงมาก
แต่ขณะนี้นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐก้าวหน้ามากกว่าทางยุโรป ส่งผลให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเงินยูโร และเงินบาทก็จะอ่อนค่าลงตาม อีกทั้งหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงชัดเจนมากขึ้นก็จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้
ด้านนายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู่ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินบาทยังคงคาดการณ์ได้ยากและน่าจะยังคงผันผวนต่อไป ดังนั้น ผู้ส่งออกและผู้ลงทุนควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะขณะนี้หากพิจารณาในภาพรวมจะพบว่ามีทั้งปัจจัยทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลงและแข็งค่าขึ้น โดยมาตรการที่ทำให่อ่อนค่าลง ได้แก่ สหรัฐอาจจะเลิกมาตรการ QE รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่มีสัญญาณว่าจะไม่ดีต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางปัจจัยที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น เช่น พื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่การส่งออกที่ยังคงเติบโต อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูงกว่าในต่างประเทศทำให้เป็นสิ่งที่ยังคงเป็นตัวดึงดูดเงินจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ราคาสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแทรกแซงค่าเงินบาทน้อยลง ดังนั้น จะต้องพิจารณาควบคู่ให้ดีหากเป็นนักลงทุนในตลาดทุนในประเทศ ควรดูปัจจัยพื้นฐานของแต่ละบริษัทว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าส่งออกและหนี้ต่างประเทศมากน้อยเพียงใด
ขณะเดียวกันหากมองไปข้างหน้าก็น่าเป็นห่วงว่า ถ้าประเทศขนาดใหญ่ยุติการใช้มาตรการ QE และอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่กลับเป็นขาขึ้น สิ่งนี้จะต้องระวังเพราะจะเป็นผลลบต่อสินทรัพย์และการลงทุน แต่ก็เชื่อว่าภาวะดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วง 6-12 เดือนนับจากนี้ไป แต่น่าจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2015-2016