นอกจากนี้ ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ -4.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง จากการจำกัดการผลิตเนื่องจากความกังวลจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีเพาะปลูก 2556 และเป็นผลทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น 2.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และมาเลเซีย เป็นหลัก
"เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2556 บ่งชี้ถึงสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2556 ทั้งนี้ สศค.จะได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออกปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการขยายตัวจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 10.0 เป็นหลัก นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 12.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 22.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จะลดลงจากเดือนมีนาคม 2556 ที่ขยายตัวร้อยละ 93.4
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนเมษายน 2556 ลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 73.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว
สศค.ระบุว่า การลงทุนภาคเอกชนในเดือนเมษายน 2556 ขยายตัวได้ดีจากช่วงก่อนหน้าทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.7 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 35.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านการส่งออก ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยขยายตัวร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นสำคัญ โดยหากมองตลาดส่งออก ยังสามารถส่งออกได้ดีในตลาดฮ่องกง ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา
รองผู้อำนวยการ สศค.กล่าวถึงหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสำคัญและมีความกังวลถึงแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า สถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวในระดับสูงในปี 55 มาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดี รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการรถคันแรก ซึ่ง สศค. ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนจะเริ่มมีสัญญาณกลับสู่ภาวะปกติภายหลังจากที่นโยบายรถคันแรกได้สิ้นสุดลงแล้ว
นอกจากนี้ สถานะการเงินของสถาบันการเงินไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง และยังไม่มีสัญญาณของปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในระยะต่อจากนี้ สศค. จะติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดต่อไป