นายเลตตากล่าวว่า ชาวอิตาเลียน "ควรรู้สึกภูมิใจกับผลลัพธ์นี้" ขณะที่แนวทางของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าด้วยการจัดการยอดขาดดุลที่มากเกินไปนั้น ได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาต่ออิตาลีนับแต่ปี 2552 เพื่อให้มีการควบคุมยอดขาดดุลของประเทศ
นายกฯอิตาลี ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้วและเป็นผู้นำรัฐบาลผสมที่มีความเปราะบางนั้น ได้ยอมรับแนวทางแก้ปัญหาที่ยากลำบากด้วยการขึ้นภาษีและลดสวัสดิการ ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีมาริโอ มอนติ เพื่อให้ประเทศกลับมามีวินัยทางการคลังอีกครั้ง
ทั้งนี้ คาดกันว่าเมื่อถอดอิตาลีออกจากบัญชีดำแล้ว จะมีการเบิกจ่ายเงินจำนวนหลายพันล้านยูโร แม้นายเลตตาได้กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า นั่นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะสามารถใช้เงินมากขึ้นในด้านต่างๆได้ในทันที
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปยังได้ให้คำแนะนำด้านนโยบายหลายประการสำหรับอิตาลี เช่น การสร้างสมดุลงบประมาณ การลดหนี้สาธารณะและการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง แม้นักวิเคราะห์หลายรายแสดงความไม่แน่ใจว่านายเลตตาจะสามารถผลักดันแนวทางดังกล่าวให้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาได้หรือไม่
คณะกรรมาธิการยังเรียกร้องให้อิตาลีเพิ่มความเข้มงวดของกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชั่น และปรับปรุงกระบวนการทางกฏหมายด้วย
ทางด้านนายออลลี เรน สมาชิกกรรมาธิการกิจการการเงินและการคลังยุโรป ระบุว่า แท้จริงแล้ว อิตาลีมี "ข้อจำกัดเพียงเล็กน้อย" เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนด้านงบประมาณ
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การที่อิตาลีจะถูกถอดจากบัญชีดำประเทศขาดดุลของอียูนั้น อิตาลีต้องควบคุมยอดขาดุลสาธารณะไว้ไม่ให้เกิน 3.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ขณะที่อิตาลีคาดว่าสัดส่วนงบประมาณต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 2.9% ในปีนี้ หลังจากที่ได้ควบคุมตัวเลขดังกล่าวไม่ให้สูงเกินระดับ 3.0% เมื่อปี 2555