สศค.เล็งปรับลดคาดการณ์GDPปี 56 จาก 5.3%หลัง Q1/56ต่ำกว่าคาด-Q2/56 ชะลอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 30, 2013 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ระบุว่า สศค.จะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ปี 56 อีกครั้ง โดยมีแนวโน้มว่าจะปรับลดลงจากที่คาดไว้ในระดับ 5.3% เนื่องจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ GDP ไตรมาส 1/56 ที่ขยายตัวเพียง 5.3% ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์)แถลงถือว่าเติบโตน้อยกว่าที่ สศค.คาดไว้ที่ 6% และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกแผ่วลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะมีผลกระทบมายังภาคการส่งออกของไทยได้

นอกจากนั้น แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/56 มองว่า GDP จะเติบโตได้น้อยกว่าไตรมาส 1/56 ที่ขยายตัว 5.3% เนื่องจากข้อมูลเศรษฐกิจในเดือน เม.ย.พบว่า ทั้งตัวเลขภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง มีเพียงภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี

“เดือนหน้า(มิ.ย.) เราคงจะมีการปรับตัวเลข GDP ใหม่ เราจะใช้ข้อมูลเศรษฐกิจในไตรมาส 1 มาเป็นแบบจำลอง ทิศทางก็มีโอกาสจะปรับลดลง"นายเอกนิติ กล่าว

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กำลังซื้อในประเทศเริ่มแผ่วลง เห็นได้จากตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ก่อนหน้านี้เป็นตัวผลักดันให้เศรษฐกิจในประเทศร้อนแรงจากผลของนโยบายรถคันแรก หากปัจจัยนี้แผ่วลงไปและไม่มีตัวอื่นเข้ามาช่วยทดแทนก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปีมีความน่าเป็นห่วงใน 2 จุด คือ กำลังซื้อในประเทศที่แผ่วลง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าของไทย

“การจำหน่ายรถยนต์นั่งตัวนี้ถ้าแผ่วลง แรงที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตขึ้นได้ก็จะน่าเป็นห่วงถ้าไม่มีตัวอื่นมาทดแทน เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังก็จะน่าเป็นห่วง...ตอนนี้กำลังซื้อในประเทศเริ่มแผ่ว ถ้าการส่งออกไม่กลับขึ้นมา แรงกระตุ้นจะมาจากไหน นั่นคือโจทย์ต่อไป" นายเอกนิติ กล่าว

อย่างไรก็ดี สศค.ยังมองว่าตัวเลขการส่งออกในเดือนเม.ย.56 ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงว่ามูลค่าการส่งออกขยายตัวถึง 10.5% นั้นแม้จะเป็นตัวเลขที่ทำให้สบายใจได้ว่าการส่งออกเติบโตได้ดีนั้น แต่อัตราการส่งออกในระดับดังกล่าวค่อนข้างสูงผิดปกติเมื่อเทียบกับการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกในแต่ละเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 56 ดังนั้น สศค.จึงขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยไปประสานกับกรมศุลกากรเพื่อตรวจสอบรายละเอียดของตัวเลขการส่งออกในเดือนเม.ย.อีกครั้ง

“ขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปเช็คกับกรมศุลฯ ว่าอะไร เพราะมันสูงผิดปกติ คือถ้าเป็นผลจากการส่งออกทองคำก็จะไม่น่าแปลกใจ แต่เบื้องต้นที่เช็คข้อมูลเบื้องต้นมาจากอิเล็กทรอนิกส์" นายเอกนิติกล่าว

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศนั้น สศค.มองว่าเป็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีก จาก 2 ปัจจัยที่สำคัญ คือ ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจไทยที่เริ่มชะลอตัว และภาวะเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลง ซึ่งการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)เมื่อวานนี้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 2.50% เชื่อว่ามีผลจากตัวเลข GDP ในไตรมาสแรกเติบโตต่ำกว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 6% รวมทั้ง กนง.คงพิจารณาว่าเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงสูง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ