สำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 7.8% ในไตรมาสแรกของปีนี้ จากระดับปีที่แล้ว ขณะที่การคาดการณ์เรื่องการขยายตัวของจีดีพีก่อนหน้านี้คาดว่า จะขยายตัว 7.1%
-- นายเดวิด ลิปตัน รองผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า หนี้สินรัฐบาลจีนได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เกือบ 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่ยังคงสามารถควบคุมได้
-- นายเอริค โรเซนเกรน ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาบอสตัน เขาเห็นด้วย หากเฟดจะชะลอการซื้อพันธบัตรในเร็วๆนี้ ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงฟื้นตัวในอัตราปัจจุบัน โดยนายโรเซนเกรนเป็นผู้ที่มีท่าทีสนับสนุนอย่างมากต่อการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟดด้วยการซื้อพันธบัตร
-- แบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชันส์ (BOC) คาดการณ์ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน มีแนวโน้มขยายตัว 2.5% ในเดือนพฤษภาคม จากปีก่อนหน้านี้ ขยับขึ้นเล็กน้อยจาก 2.4% ในเดือนเมษายน
-- นักวิเคราะห์คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.5% ต่อปี ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทรงตัวจากข้อมูลประมาณการครั้งแรกในเดือนที่แล้ว โดยสหรัฐจะเปิดเผยประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 1/2556 คืนนี้ตามเวลาไทย
-- นายกรัฐมนตรีเอ็นริโก เลตตา ของอิตาลี แสดงความพอใจกับคำแนะนำของคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ที่ให้มีการถอดชื่ออิตาลีออกจากบัญชีดำกลุ่มประเทศที่มียอดขาดดุลมากเกินไป
-- องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) เปิดเผยว่าอิตาลีกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยที่รุนแรงขึ้น และอัตราว่างงานที่สูงขึ้นในปีนี้ โดยคาดว่าเศรษฐกิจอิตาลีจะขยายตัวที่ -1.8% ในปี 2556 ซึ่งย่ำแย่กว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้
-- สำนักงานสถิติของอิตาลี (Istat) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของอิตาลีลดลงต่อเนื่องในเดือนเม.ย. จากราคาพลังงานที่ปรับลดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
-- ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในบรรดากลุ่มบริษัทผู้ผลิตของเกาหลีใต้ปรับตัวดีขึ้นในเดือนที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจของประเทศ
-- คณะกรรมาธิการยุโรปเผยความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในเดือนพ.ค.ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 89.4 จากระดับ 88.6 ในเดือนเม.ย. ท่ามกลางสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของภูมิภาคเริ่มหลุดพ้นจากภาวะถดถอยที่ดำเนินมาอย่างยาวนาน
-- รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) เผยบีโอเจจะติดตามสถานการณ์ในตลาดพันธบัตรอย่างระมัดระวัง ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการรับมือกับภาวะเงินฝืด