นอกจากนี้ ยังพบว่าธุรกิจ SMEs ระดับตำบลมีความสามารถในการแข่งขันต่ำสุด โดยมีค่าดัชนีที่ระดับ 51.4 ต่ำกว่าธุรกิจระดับอำเภอและจังหวัด ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจขนาดเล็กมีความสามารถต่ำกว่าธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ แต่หากแยกเป็นประเภทธุรกิจ จะพบว่าธุรกิจที่มีความสามารถแข่งขันต่ำสุด อันดับแรก คือ ธุรกิจค้าปลีก รองลงมาเป็นสิ่งทอ อาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจค้าส่ง และส่วนใหญ่ยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก
"ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าธุรกิจ SMREs ที่อยู่ในระดับตำบล และมีสัดส่วน 30% จากธุรกิจ SMEs ทั้งหมด 2 ล้านราย หรือประมาณ 600,000 ราย มีสถานะน่าเป็นห่วง เพราะแข่งขันได้ยาก และประสบปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ต้นทุนสูง เข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก และไม่มีการวางแผนในการกำหนดเป้าหมายในอนาคต การลงทุนด้านตลาด และใช้เทคโนโลยีหรือการทำวิจัยยังต่ำมาก รัฐบาลควรเข้าไปพยุง เพราะเป็นกลุ่มที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจรากหญ้าว่ามีการซึมตัวแค่ไหน" นายธนวรรธน์กล่าว
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยได้จัดทำดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ขึ้น เพื่อใช้วิเคราะห์และประเมินสถานภาพของธุรกิจ SMEs ในประเทศว่ามีความสามารถเพียงพอที่จะแข่งขันในตลาดโลกหรือไม่ โดยจะมีการสำรวจเป็นรายไตรมาส ซึ่งจะทำให้รู้สถานภาพของ SMEsไทย ทำให้มีข้อมูลเชิงลึกในการออกแบบนโยบาย และมาตรการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องเหมาะสมกับจุดอ่อน และปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจ SMEs แต่ละกลุ่มได้
นอกจากนี้ หอการค้าไทยกำลังหาวิธีพยุงธุรกิจ SMEs เพื่อให้แข่งขันได้ โดยขอความร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ให้เป็นพี่เลี้ยงแนะนำและช่วยเหลือในการพัฒนาองค์กร รวมถึงคัดเลือกใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มละ 10-20 ราย เพื่อส่งเสริมการเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีงบเตรียมไว้ 300 ล้านบาทใน 3 ปี และเสนอให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือการเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อเสริมสร้างการแข่งขันในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)