ดอลลาร์ร่วงเทียบยูโร หลัง GDP ไตรมาสแรกสหรัฐขยายตัวช้าลง

ข่าวต่างประเทศ Thursday May 30, 2013 21:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์เมื่อเทียบกับยูโร หลังจากสหรัฐรายงานว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ช้าลงในไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก

ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ได้ไม่นานในวันนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.7% แตะที่ 1.3033 ยูโรต่อดอลลาร์

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของจีดีพีที่แท้จริงประจำไตรมาส 1/2556 ในวันนี้ โดยระบุว่าจีดีพีไตรมาสแรกขยายตัว 2.4% ลดลงจากที่ประมาณการไว้ครั้งแรกว่าขยายตัว 2.5% สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มได้รับผลกระทบจากมาตรการลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐโดยอัตโนมัติ (sequestration)

รายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวในอัตราที่ช้าลงนั้น มาจากการที่รัฐบาลปรับลดการใช้จ่ายในหน่วยงานของรัฐบาลทั่วทุกระดับ และจากการที่ภาคเอกชนนอกภาคการเกษตรได้ปรับลดการสต็อกสินค้าคงคลัง

เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดแถลงต่อคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจร่วมของสภาคองเกรสในช่วงค่ำวานนี้ตามเวลาไทยว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วกว่ากำหนด จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลง หรืออาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุติลงด้วย

อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้กล่าวว่า การลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) นั้น อาจจะมีขึ้นในการประชุมในอีกไม่กี่ครั้งข้างหน้า ซึ่งจะขึ้นอยู่กับข้อมูลด้านการใช้จ่ายของผู้บริโภค การใช้จ่ายของภาคเอกชน และข้อมูลด้านการจ้างงานของสหรัฐ

นอกจากนี้ เบอร์นันเก้กล่าวว่า "ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน นโยบายการเงินนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เศรษฐกิจสหรัฐยังคงได้รับผลกระทบจากอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงและมาตรการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยหรือลดการซื้อสินทรัพย์เร็วเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ส่วนอัตราว่างงานที่อยู่ในระดับสูงและการจ้างงานที่ยังไม่เต็มที่ถือเป็นสิ่งที่อันตรายมาก"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ